กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมส่งเสริมแปลงใหญ่หมูหลุมอินทรีย์ จ.ราชบุรี หวังพัฒนาเป็นธุรกิจภาคเกษตร สร้างความมั่นคงยั่งยืนให้ชุมชน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 14, 2017 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี ว่า การลงพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร เข้าร่วมการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ด้วย นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พิจารณาถึงหลักเกณฑ์กฎระเบียบมาตรฐานอินทรีย์ (Thailand Organic ) เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทการผลิตของประเทศไทย และมอบหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี ดำเนินการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ให้เป็นแปลงใหญ่หมูหลุมอินทรีย์ เพื่อให้เกิดการรวมตัวกันและมีการพัฒนาต่อยอดในด้านต่าง ๆ เป็นธุรกิจภาคเกษตร ที่มีความมั่นคง และยั่งยืน โดยรัฐบาลได้สนับสนุนเงินทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นแหล่งทุนให้กับเกษตรกร รวมทั้งมอบหมายให้กรมปศุสัตว์พิจารณาเรื่องการจัดตั้ง Organic Feed Center เพื่อแก้ไขปัญหาวัตถุดิบในการผลิตเป็นอาหารสัตว์อินทรีย์ในอนาคต ตลอดจนเพื่อพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อไป สำหรับแนวทางแผนการทำงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ ได้ยึดหลัก 4P ได้แก่ 1) Product ผลิตสินค้าที่ปลอดภัยจากฟาร์มถึงผู้บริโภค 2) Price แบ่งเป็น 3 ราคา ได้แก่ เขตชุมชน ในตัวเมือง และในกรุงเทพฯ 3) Place เปิดเขียงในฟาร์ม 4) Promotion แผนการขาย/การตลาด นอกจากนี้ยังได้นำเสนอปัญหา เพื่อขอรับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ได้แก่ 1) ปัญหากฎ/ระเบียบ ในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่ควรปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีพื้นที่กลางแจ้งสำหรับให้ปศุสัตว์ได้สัมผัสกับธรรมชาติ 2) ปัญหาวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารอินทรีย์ สำหรับภาคปศุสัตว์ วัตถุดิบมีไม่เพียงพอและไม่สามารถผลิตเองได้ โดยเฉพาะกากถั่วเหลือง ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 3) โรงชำแหละมาตรฐาน สำหรับเป็นจุดรวบรวมผลผลิตของสมาชิก เพื่อชำแหละ คัดแยก แปรรูป เพื่อจำหน่าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ