กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้ายกระดับไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน รุกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 5 ปี ตั้งเป้าปี 2564 ขยายพื้นที่ผลิตกว่าล้านไร่ พร้อมส่งเสริมเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มกว่า 9 หมื่นราย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 14, 2017 17:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดทั้งผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งแนวโน้มปัจจุบันมีความต้องการสินค้าที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนดเป็นนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้ราคาสูงขึ้น และผู้บริโภคมีทางเลือกสินค้าที่ปลอดจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ต่อคณะรัฐมนตรีและได้ผ่านความเห็นชอบ โดยจะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 กลยุทธ์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรฯ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 1,333,860 ไร่ และมีจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 96,670 ราย เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ ร้อยละ 40 และตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 60 รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐาน "ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์จะทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 318 ล้านไร่ ใน 183 ประเทศ ในขณะที่ด้านการตลาดมีมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกรวม 3 ล้านล้านบาท สำหรับในประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตรวม 0.3 ล้านไร่ โดยไทยเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย และอันดับที่ 60 ของโลก ซึ่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่สำคัญ ได้แก่ กะทิ เครื่องแกง ซอส มูลค่า 1,201 ล้านบาท ข้าว 552 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอม ชา กาแฟ และสมุนไพร 558 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 2,310 ล้านบาท โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติจะช่วยผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล" พลเอกฉัตรชัย กล่าว นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ในปี 2560 ว่า ได้แบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ จังหวัดยโสธร ซึ่งมีการปลูกข้าวอินทรีย์เป็นพืชหลัก ปลูกพืชผักหลังนา และเลี้ยงไก่อินทรีย์เป็นกิจกรรมเสริม และพื้นที่ทั่วไป ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมงอินทรีย์ ส่วนกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานได้แบ่งเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มเริ่มใหม่ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตหรือความรู้เบื้องต้น กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมยกระดับ โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วและอยู่ระหว่างการขอรับรอง โดยจะให้การสนับสนุนตั้งโรงผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปัจจัยการผลิต จัดทำแปลงสาธิต หมู่บ้านต้นแบบ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ พัฒนาต่อยอดการผลิต และกลุ่มสุดท้ายได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์แล้ว จะมีการเชื่อมโยงตลาดและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า ส่งเสริมการแปรรูปและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างตราสินค้าเกษตรอินทรีย์ และติดตั้งระบบการตรวจสอบสินค้า ทั้งนี้ ผลการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ใน ปี 2560 พื้นที่รวมทั้งประเทศ 109,040 ไร่ แยกเป็นข้าว 98,239 ไร่ และพืชผสมผสาน 9,103 ไร่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ