ปภ.วางระบบสนันสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน เตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday June 29, 2017 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) วางแผนการจัดการภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) หรือสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) โดยจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) และสถาปนาการสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) 18 ส่วนงาน เพื่อประสานการปฏิบัติในการจัดการสาธารณภัยตามความจำเป็นของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางการจัดการภาวะฉุกเฉินให้เป็นระบบและมีเอกภาพ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดสาธารณภัยบ่อยครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งการจัดการภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) หรือสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จะสถาปนาการสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) เพื่อประสานการปฏิบัติในการจัดการสาธารณภัยตามความจำเป็นของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่งผลให้การปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แบ่งเป็น 18 ส่วนงาน ดังนี้ สปฉ.1 ส่วนงานคมนาคม ทำหน้าที่จัดการระบบ ปรับปรุงเส้นทาง และโครงข่ายการคมนาคมให้สามารถใช้การได้เมื่อเกิดสาธารณภัย สปฉ.2 ส่วนงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำหน้าที่จัดระบบสื่อสารและโทรคมนาคมให้ใช้การได้ทุกสถานการณ์ สปฉ.3 ส่วนงานสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ทำหน้าที่เตรียมความพร้อม ซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งสาธารณูปโภคให้ใช้การได้ในขณะที่เกิดสาธารณภัย สปฉ.4 ส่วนผจญเพลิง ทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินเมื่อเกิดอัคคีภัย รวมถึงสนับสนุนการป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัยในทุกพื้นที่ สปฉ.5 ส่วนงานการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ทำหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ประเมินแนวโน้มสาธารณภัย แจ้งเตือนประชาชน สนับสนุนทรัพยากร และประสานการจัดการภาวะฉุกเฉินกับส่วนต่างๆ สปฉ.6 ส่วนงานสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว แจกจ่ายเครื่องดำรงชีพ ดูแลงานด้านสังคมสงเคราะห์ และเยียวยาสภาพจิตใจผู้ประสบภัย สปฉ.7 ส่วนงานการสนับสนุนทรัพยากรทางทหาร ทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติระหว่างเหล่าทัพ เพื่อสนับสนุนส่วนราชการ หน่วยทหาร กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละระดับในการเผชิญเหตุสาธารณภัย สปฉ.8 ส่วนงานการแพทย์และสาธารณสุขทำหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ประสบภัย โดยจัดตั้ง ทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจรักษาโรค เฝ้าระวัง และควบคุมโรคติดต่อ รวมถึงการสุขาภิบาลของพื้นที่ประสบภัย สปฉ.9 ส่วนงานการค้นหาและกู้ภัย ทำหน้าที่ประสานการช่วยเหลือ สนับสนุนการค้นหาและกู้ภัย เพื่อช่วยชีวิตผู้ประสบภัย สปฉ.10 ส่วนงานสารเคมี วัตถุอันตราย และกัมมันตรังสี ทำหน้าที่วางแผน ป้องกัน ควบคุม และระงับภัยจากสารเคมี วัตถุอันตราย และกัมมันตรังสีที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม สปฉ.11 ส่วนงานการเกษตร ทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ แจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกร และสำรวจความเสียหายด้านการเกษตร เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย สปฉ.12 ส่วนงานพลังงาน ทำหน้าที่ดูแล รักษา และสนับสนุนทรัพยากรด้านพลังงานให้สามารถใช้ปฏิบัติงานได้ตลอดระยะเวลาที่เกิดสาธารณภัย สปฉ.13 ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของประชาชน สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เขตเมือง และชุมชนในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียง สปฉ.14 ส่วนงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม ทำหน้าที่ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงกำหนดแนวทางการฟื้นฟูให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สปฉ.15 ส่วนงานการต่างประเทศ ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในภาวะฉุกเฉิน และสนับสนุนการช่วยเหลือชาวต่างประเทศที่ประสบภัย สปฉ.16 ส่วนงานการประชาสัมพันธ์และการจัดการข้อมูลข่าวสาร ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและให้ความรู้กี่ยวกับสาธารณภัย รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันข่าวลือที่สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน สปฉ.17 ส่วนงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ประเมิน กำหนดวิธีป้องกัน และลดผลกระทบจากสาธารณภัยที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปฉ.18 ส่วนงานงบประมาณและการบริจาค ทำหน้าที่รับบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ ปภ. ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางการจัดการภาวะฉุกเฉินให้เป็นระบบและมีเอกภาพ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ