กฟน.ชี้แจงกรณีเรียกเก็บเงินประกันเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Thursday June 28, 2001 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กฟน.
ไม่ใช้ฐานค่าไฟเดือนเมษา-พฤษภา มาคิด จากกรณีที่มีข่าวว่า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนั้น มรว.จิยากร เสสะเวช ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงว่า ข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก
กรณีของหลักประกันการใช้ไฟฟ้านั้น ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมาทุกประเภทและทุกรายจะวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้ารวมอยู่ในค่าใช้จ่ายการติดตั้งไฟฟ้าอยู่แล้ว โดย กฟน.มีอัตรากำหนดไว้ เช่น เครื่องวัดขนาด 5 (15) แอมป์ เหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณการว่ามีการใช้ไฟฟ้าเดือนละไม่เกิน 150 บาท จึงกำหนดหลักประกันไว้ 300 บาท ขณะที่เครื่องวัดขนาด 15 (45) แอมป์ เหมาะสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป ประมาณการว่ามีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 1,000 บาท จึงกำหนดหลักประกันไว้ 2,000 บาท
ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวต่อว่า การเรียกหลักประกันเพิ่มเติมให้เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2 เดือนนั้น จะเรียกเพิ่มเฉพาะประเภทธุรกิจเท่านั้น สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ( ประเภท 1 ทั้ง 1.1 และ 1.2 ) ที่มีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านราย ไม่มีการเรียกเพิ่มจากเดิม ไม่ว่าจะใช้ไฟเพิ่มขึ้นไปเท่าใดก็ตาม ทั้งนี้สำหรับประเภทธุรกิจจะมีการตรวจสอบการใช้ ไฟฟ้า หากพบว่ามีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มต่อเนื่อง จนเงินประกันที่วางไว้ไม่พอสำหรับค่าไฟฟ้า 2 เดือน กฟน.ก็จะขอเรียกหลักประกันเพิ่มเติม และเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน ก็สามารถให้ กฟน.ตรวจสอบเพื่อลดหลักประกันที่วางไว้ได้ เช่นเดียวกัน
ส่วนข่าวที่ว่า กฟน.ใช้ค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง มาคิดเป็นฐานเพื่อเรียกเก็บเงินประกันเพิ่มนั้น มรว.จิยากร กล่าวว่า เนื่องจากในฤดูร้อนปีนี้ มีการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติกว่าทุกปี และเพื่อช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ใช้ ไฟฟ้าประเภทธุรกิจ ดังนั้น กฟน.จึงไม่ใช้ค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม มาเป็นฐานในการคิดหลักประกันแต่อย่างใด จึงไม่ต้องกังวลว่า ค่าไฟฟ้าในในช่วงเดือนดังกล่าว จะเป็นสาเหตุให้ต้องวางหลักประกันเพิ่มเติม
สำหรับหลักประกันที่ผู้ใช้ไฟฟ้านำมาวางไว้นั้น สามารถเลือกได้ว่าจะวางเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ , หนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือเงินสด ซึ่งปัจจุบัน หลักประกันที่เป็นเงินสดนั้น ดอกเบี้ยของเงินประกันที่เกิดขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่ใช้เป็นฐานในการคิดอัตราค่าไฟฟ้า ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าไม่สูงเกินไป และดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจะถูกนำไปใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์หรือสาธารณกุศล ถือเป็นการคืนกำไรสู่สังคม
สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 หรือบ้านอยู่อาศัย ที่ขอใช้ไฟฟ้าก่อนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2523 และไม่ได้มีหลักประกันการใช้ไฟฟ้า กฟน.ก็ได้ผ่อนผัน โดยไม่เรียกเก็บหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ยกเว้นว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้า เช่น เพิ่มขนาดเครื่องวัด , เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าหรือถูกตัดไฟ ในกรณีเหล่านี้ กฟน.จึงจะขอเรียกหลักประกันตาม หลักเกณฑ์ที่วางไว้
มรว.จิยากร กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านอยู่อาศัยชนิดทาวน์เฮาส์ และอาคารพาณิชย์ จะพบว่า ถูกจัดอยู่ใน ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 2 หรือธุรกิจขนาดเล็ก สาเหตุก็เนื่องมาจากว่า ผู้ประกอบการหรือบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของ หมู่บ้านจะเป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าในนามของบริษัท กฟน.จึงจัดอยู่ในผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 2 หากประชาชนใช้เพื่ออยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ประกอบธุรกิจก็สามารถมายื่นเรื่องขอเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าและประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นประเภท 1 ได้--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ