กยท. ชี้ นำยางในสต๊อค ใช้ในโครงการส่งเสริมใช้ยางในประเทศเท่านั้น ย้ำ เดินหน้ามาตรการ เร่งสร้างเสถียรภาพด้านราคา

ข่าวทั่วไป Friday July 14, 2017 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--การยางแห่งประเทศไทย กยท.ย้ำชัดว่า รัฐบาลจะนำยางที่เหลือในสต๊อคประมาณ 1 แสนตันไปแปรรูปในโครงการส่งเสริมใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ พร้อมชี้ หลังไฟเขียว หน่วยธุรกิจ กยท.รุกเข้าตลาดยาง และปัจจัยการผลิต เพื่อบริหารจัดการยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งเดินหน้าใช้มาตรการซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ช่วยเร่งสร้างเสถียรภาพด้านราคา โดยชูนวัตกรรมการจัดการวิธีใหม่ ทั้งนำ พ.ร.บ.ควบคุมยางมาใช้อย่างเคร่งครัด ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งกองทุนเสถียรภาพฯ และเตรียมเจรจากับประเทศผู้ผลิตยางในสัปดาห์หน้าต่อไป ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า รัฐบาลมีนโยบายและประกาศอย่างชัดเจนในการนำยางพาราที่คงเหลือในสต๊อคจากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน รักษาเสถียรภาพราคายาง จากการประมูลยางประมาณ 100,000 ตัน มาใช้ในประเทศ โดยให้หน่วยงานรัฐ เดินหน้าเสนอโครงการต่างๆ ที่สามารถนำยางพาราไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเจ้าภาพหลักได้เชิญหน่วยงานรัฐทั้ง 10 หน่วยงานที่เสนอความต้องการใช้ยางพาราในระยะ 3 เดือนข้างหน้า รวมทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของยางในสต๊อกที่มีอยู่ แต่ยังมีหน่วยงานระดับกรมต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะพิจารณางบประมาณที่มีอยู่ในปี 2560 เพื่อนำมาใช้ในโครงการต่างๆ ที่สามารถนำยางพาราในสต๊อกไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมากที่สุด ในนาม กยท. ได้จัดทำโครงการต่างๆ นำร่องที่จะนำยางพาราไปใช้ ทั้งการจัดทำสนามเด็กเล่นปูพื้นจากยางพารา สนามฟุตซอล โครงการยางล้อประชารัฐ เป็นต้น สำหรับการที่หลายหน่วยงานจะนำยางพาราไปใช้ไม่ว่าจะทำถนน หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผ่านมาติดปัญหาระเบียบพัสดุในการจัดตั้งงบประมาณ ราคากลางต่างๆ เพื่อนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในประเทศให้มากที่สุด คาดว่า หลังจากที่ กยท. ได้เดินหน้าผลักดันเรื่องมาตรฐานกับสินค้าอุตสาหกรรมประเภทนี้ จะมีการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น ดร. ธีธัช สุขสะอาด กล่าวถึงประเด็นการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของการยางแห่งประเทศไทยว่า กยท. ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ในเรื่องการจัดตั้งหน่วยธุรกิจตาม มาตรา 49 (2) ซึ่งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งหน่วยธุรกิจขึ้นตั้งแต่ วันที่ 20 กันยายน 2559 ซึ่งปัจจุบันได้แบ่งกรอบของการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ปัจจัยการผลิต ตลาดยางทั้งผลผลิตยางและไม้ยางพารา โลจิสติกส์ และการจัดหาเงินทุนรวมถึงสวัสดิการให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวกว่าการบริหารจัดการทั่วไป ในขณะเดียวกัน เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่การแยกตัวเป็นบริษัท จำกัด ซึ่งหน่วยธุรกิจนี้ได้ดำเนินการธุรกิจการค้าขายยางพารามาระยะหนึ่งแล้ว โดยการรับซื้อผลผลิตยางจากกลุ่มสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร เพื่อนำส่งโรงงานทั้ง 6 โรงงานของ กยท. ในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสู่การส่งออกต่อไป อย่างไรก็ตาม กยท. ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทลูก ที่จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการธุรกิจในนามบริษัทจำกัดให้ชัดเจน หากผ่านความเห็นคณะทำงานของ สคร. แล้ว กยท.จะนำเสนอต่อ ครม. ผ่านความเห็นชอบต่อไป ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า มาตรการระหว่างประเทศ ในการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางนั้น ประเทศไทย โดย กยท. ซึ่งเป็นสมาชิกของบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ที่ประกอบด้วย 3 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม นี้ กยท. จะเดินทางไปประชุมสภาความร่วมมือยางระหว่างประเทศ (ITRC) ครั้งที่ 28 ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยสิ่งสำคัญที่สุดวาระนี้ คือ การเร่งรัดให้จัดการประชุมในระดับรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาราคายางผันผวน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหลักที่ได้รับผลกระทบกว่าประเทศอื่นในช่วงที่ผ่านมา ดร. ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจาก 4 ประเด็น ซึ่งรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กยท. ได้ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น ยังมีอีก 2 มาตรการ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นมาตรการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในระยะเร่งด่วน คือ มาตรการในการนำเอา พ.ร.บ.ควบคุมยางมาใช้อย่างเข้มข้น ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาง ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์ชัดเจนในการนำเอา พ.ร.บ.ควบคุมยางมาใช้ ทั้งการตรวจสต็อคในโรงทำยางและผู้ค้ายางเพื่อเปรียบเทียบกับบัญชียาง ทางคณะกรรมการควบคุมยางได้มีการตั้งเจ้าหน้าที่ กยท. ให้เป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ควบคู่ด้วย ทั้งหมดจะเข้าตรวจสต๊อคยางอย่างต่อเนื่องตามบัญชีกฎหมาย โดยในส่วนของ กยท. จะเน้นในเรื่องการตรวจสต๊อค เพื่อตรวจสอบในเรื่องของปริมาณยาง น้ำหนักยางและคุณภาพ เพื่อประเมินในส่วนของค่าเฉลี่ย เน้นการดำเนินการที่ทำให้เกิดความโปร่งใส "และที่สำคัญยังมีมาตรการด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งได้มีการตกลงร่วมกันกับบริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทยทั้ง 5 ราย ร่วมการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง ในเงินกองทุนนี้ จะเข้าไปรักษาระดับราคาให้มีการปรับตัวสู่ดุลยภาพที่สูงขึ้นซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้มีการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น ในตลาดทั้งสองตลาด ก็คือตลาดของการซื้อขายล่วงหน้า และตลาดซื้อขายจริง" ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ