กยท. ย้ำ ทำงานเชิงรุก ดัน เงินกองทุนพัฒนายางพาราสู่ผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบแบบมีส่วนร่วม

ข่าวทั่วไป Wednesday July 19, 2017 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--การยางแห่งประเทศไทย ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ตอบประเด็นที่มีการกล่าวถึง การทำงานของ กยท. ว่า แม้ว่า กยท. จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เพิ่งก่อตั้งมาเพียง 2 ปี แต่ กยท.ได้ทำงานเชิงรุกตามวัตถุประสงค์ที่ พ.ร.บ. กยท. กำหนดมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาเป็นค่าบริหารกองทุนพัฒนายางพาราด้านต่างๆ โดยมีตัวแทนเกษตรกร สถาบันเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ด้านสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งใช้จ่ายเงิน ร้อยละ 7 ของเงินกองทุน ขณะนี้ เกษตรกรสามารถใช้สิทธิ์ตามสวัสดิการ ซึ่ง กยท.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว ทั้งในช่วงที่สวนยางประสบภัยธรรมชาติทางใต้เมื่อปลายปีประมาณ 4,000 ครัวเรือน กรณีเกษตรกรเสียชีวิต ทายาทจะได้รับการช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท รวมถึงเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวสวนยาง เป็นต้น สำหรับเงินกองทุนพัฒนายางพารา ร้อยละ 35 ในการช่วยส่งเสริม เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ขณะนี้ กยท. ได้สนับสนุนเงินทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท ในการแปรรูป พัฒนาปรับปรุงคุณภาพต่างๆ รวมทั้ง การส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางโดยเฉพาะ อีกร้อยละ 3 ของเงินกองทุนในการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งทุกสถาบันเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ได้ใช้จ่ายจากงบประมาณส่วนนี้ทั้งสิ้น "เงินกองทุนพัฒนายางพารา เป็นเงินที่ต้องช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียยางพาราทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงเกษตรกรชาวสวนยางเท่านั้น เพราะการพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน จะต้องพัฒนาทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปอุตสาหกรรม จนถึงการตลาด" ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาราคายาง กยท. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล ไม่มีแนวคิดที่จะนำเงินไปสนับสนุน เพื่อแทรกแซงราคายาง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ทำงานแบบบูรณาการ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกร ที่จะนำยางพาราไปแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งนำร่องด้วยการส่งเสริมใช้ยางในประเทศ โดยทุกๆ ฝ่ายควรร่วมมือกันตามหน้าที่ความรับผิดชอบ เดินหน้าผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ไม่ควรกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรหันหน้าสร้างวิธีการ การปฏิบัติจริง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น "สำหรับที่ผ่านมา กยท. ได้รวบรวมผลผลิตยางจากเกษตรกร เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการซื้อขาย และที่สำคัญ กยท.ยังมีการรับซื้อผลผลิตจากสถาบันเกษตรกรเพื่อนำไปแปรรูปเป็นยางแท่ง ยางเครฟ น้ำยางข้น เป็นต้น ทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมประมาณ 82,000 ตันต่อปี ในขณะที่หน่วยธุรกิจของ กยท. ยังเดินหน้าหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ และรับซื้อผลผลิตยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางต่างๆ เพื่อกระตุ้นราคายางในตลาดด้วยเช่นกัน" ดร.ธีธัช กล่าวย้ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ