DPU จับมือ DEPA จัดค่าย “Startup Boot Camp” สนับสนุนเยาวชนปั้นไอเดียธุรกิจยุคดิจิทัล

ข่าวทั่วไป Thursday July 20, 2017 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประกาศผลกันเป็นที่เรียบร้อยกับโครงการผู้ประกอบการรุ่นใหม่ "Startup Boot Camp" ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จัดขึ้นเพื่อสานฝันปั้นไอเดียให้เยาวชนที่มีไอเดียธุรกิจ เข้าร่วมโครงการ "Startup Boot Camp" ชิงทุนการศึกษากว่า 200,000 บาท พร้อมสนับสนุนและผลักดันเยาวชนให้เริ่มต้นสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะของสถาบันการศึกษาต้องสนับสนุนนโยบายภาครัฐบาล ในการสร้าง Startup ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในยุคดิจิทัล จึงได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการที่เกิดขึ้น จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาทุกคนคิดไอเดียธุรกิจ พร้อมสานฝันในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเป็นจริงได้ "โครงการ Startup Boot Camp เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้นใน 3 วัน เพื่อผลักดัน สนับสนุนเยาวชนที่มีฝันอยากทำธุรกิจได้สร้างสรรค์แนวคิดธุรกิจที่มีความโดดเด่นและแตกต่าง สร้างโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มาเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำ Startup ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำการตลาด แผนการเงิน การทำโฆษณาออนไลน์ ฯลฯ พร้อมกับจัดเตรียมเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ใน ห้องเรียน Makerspace เพื่อให้น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้ลองสร้าง prototype หรือแบบจำลองของสินค้าและบริการให้เกิดขึ้นจริง โดยตลอดระยะเวลาการอบรมเราจะเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาติวเข้มให้ความรู้ คำแนะนำพร้อมแนวคิดในการต่อยอดการทำธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ให้กับน้องๆ ทั้ง 6 ทีม ที่ได้รับการคัดเลือกจาก 51 ทีมทั่วประเทศ" ผลปรากฎว่า ทีม Exit นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 จากหลายโรงเรียน คว้ารางวัลชนะเลิศ รับทุนการศึกษา 100,000 บาท ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Take it Easy นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 จากโรงเรียนกว่างเจ้า ได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือทีม Ureula นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รับทุนการศึกษา 20,000 บาท และ รางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีมเทรดเฉดสี นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 จากหลายโรงเรียน ได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท "เค" นายพุฒิพงษ์ ศิรประภาพงศ์ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ตัวแทนจากทีมผู้ชนะเลิศ จากทีม Exit เล่าว่า ทีมของพวกเราเกิดจากการรวมตัวกันจากหลายโรงเรียน พวกเรามีความสนใจที่เหมือนกันคือ อยากทำ Startup อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง "พวกเราเลือกทำแอปพลิเคชันพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล เพราะปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหรือธุรกิจที่จะมารองรับกลุ่มนี้น้อยมาก แอปพลิเคชันนี้จะช่วยตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนที่ทำงานประจำไม่สามารถพาผู้สูงอายุไปหาหมอตามนัดได้ ซึ่งเราหวังว่าเราแอปพลิเคชันของเราจะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ ซึ่งโครงการนี้สามารถทำให้พวกเราได้เรียนรู้การทำแผนธุรกิจ ได้แนวคิด ได้วิเคราะอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จุดไหนที่ธุรกิจเราบกพร่องเราก็ปรับและแก้ไขให้ดีขึ้น และยังได้รับคำแนะนำจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญหลายๆ ท่าน หลังจากนี้พวกเราจะลุยทำธุรกิจที่เราคิดไว้ให้เกิดขึ้นจริง ไม่แน่พวกเราอาจจะเป็นนักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้านก็ได้" ด้าน "โบว์" นางสาวกมลวรรณ พุ่มแฟง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกว่างเจ้า ตัวแทนจากทีม Take it Easy เล่าว่า พวกเราไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ดีใจและตื้นเต้นมาก เพราะการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ พวกเราตั้งใจและทำอย่างจริงจัง สร้างไอเดีย ช่วยกันคิด วางแผนธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจของพวกเราเป็นรูปธรรมมากที่สุด "นอกจากความรู้ได้ที่รับจากวิทยากรที่สอนพวกเรา และคณะกรรมการที่ให้คำแนะนำแล้ว พวกเรายังได้เพื่อนใหม่จากต่างโรงเรียน ได้แลกเปลี่ยนไอเดียด้านธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราจะสามารถนำความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ไปปรับใช้และพัฒนาธุรกิจของเราได้ การสร้างสรรค์ไอเดียด้านธุรกิจนั้น ไม่จำกัดเพศหรือวัย เริ่มต้นก่อน ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จก่อนคนอื่นๆ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ