สมอ. แถลงผลการดำเนินงานรอบ 10 เดือน มุ่งสู่นโยบาย Thailand 4.0

ข่าวทั่วไป Tuesday July 25, 2017 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สมอ. แถลงผล 10 เดือน ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้ากำหนดมาตรฐานแล้วกว่า 180 เรื่อง ตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) รองรับสู่ประเทศไทย 4.0 นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยผลการดำเนินงานรอบ 10 เดือน ช่วงเดือนตุลาคม 2559-กรกฎาคม 2560 ว่า สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานไปแล้ว 187 เรื่อง แบ่งเป็น 1) กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (S-Curve) 8 เรื่อง 2) กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) จำนวน 21 เรื่อง 3) กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 124 มาตรฐาน 4) ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จำนวน 32 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 187 เรื่อง คาดว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้จะสามารถกำหนดมาตรฐานได้ไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง นอกจากนี้ สมอ. ได้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ทำ ผู้นำเข้า ไปแล้วทั้งสิ้น 4,058 ฉบับ ตามกระบวนการออกใบอนุญาตที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาการออกใบอนุญาตเฉลี่ยเพียง 11 วันทำการ/เรื่อง เท่านั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ลดความซ้ำซ้อน พร้อมทั้งเดินหน้านำระบบสารสนเทศมาใช้ในการออกใบอนุญาต (E-Licence) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการยื่นขอใบอนุญาต คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มใช้ระบบดังกล่าวได้ ส่วนความคืบหน้าโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ณ เขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับพื้นที่จำนวน 200 ไร่ และเตรียมการก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และอาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการและสาธารณูปโภค คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561 เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภารกิจด้านการตรวจติดตาม สมอ. ได้ดำเนินการตรวจสอบคุมเข้มร้านค้าอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยช่วงเดือนตุลาคม 2559-มิถุนายน 2560 ได้ดำเนินการยึดอายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมูลค่ารวม 1,512.3862 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ผลิตภัณฑ์เหล็ก มูลค่า 1,383.6897 ล้านบาท 2) ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า มูลค่า 117.4480 ล้านบาท 3) ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ มูลค่า 8.2940 ล้านบาท 4) ผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์ มูลค่า 1.3474 ล้านบาท 5) ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง มูลค่า 0.8020 ล้านบาท ซึ่งหากพบว่ายังมีผู้ประกอบการและร้านค้ากระทำผิด จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันทีและมีบทลงโทษตามฐานความผิด สำหรับโครงการ ร้าน มอก. มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีกจำนวน 42 ราย 54 สาขา ทั้งร้านค้าทั่วไป และร้านโมเดิร์นเทรด ซึ่งหากผ่านเกณฑ์ของ สมอ. ทั้งหมด ก็จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 50 ราย 488 สาขาทั่วประเทศ และขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์เชิญชวนร้านจำหน่ายเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ สมอ. ตรวจสอบและมอบป้ายร้าน มอก. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้ามาตรฐาน มอก. ได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงในการที่ได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ สมอ. ยังได้เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเหล็กของไทย เพื่อให้สามารถป้อนเหล็กที่ผลิตในประเทศไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงานภายในประเทศและส่งเสริมให้ใช้วัสดุที่ผลิตได้ภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเฟสแรก ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร คาดว่าต้องใช้ปริมาณเหล็กสูงหลายแสนตัน ท้ายนี้ เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า ในอีกไม่นาน สมอ. จะมีการปรับโครงสร้างส่วนราชการใหม่ ซึ่งจะมุ่งเน้นงานด้านการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล คือ Thailand 4.0 S-Curve และ New S-Curve รวมทั้งจะสร้างศูนย์บ่มเพาะด้านการมาตรฐาน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการ เพราะการมาตรฐานจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ