บอร์ดภาพยนตร์รับทราบแนวทางขยายตลาดภาพยนตร์ในจีน-อินเดีย ส่งเสริมบุคลากรเรียนรู้ภาษาจีน ร่วมงานเทศกาล-ตลาดภาพยนตร์นานาชาติในจีน พร้อมจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทยในอินเดีย เน้นภาพยนตร์หลากหลาย

ข่าวทั่วไป Monday July 31, 2017 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ที่กระทรวงวัฒนธรรม พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 5/2560 ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าหลังจากมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในและต่างประเทศ ไปประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐอินเดียร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และชาวจีนนิยมชมภาพยนตร์ ละคร รายการทีวีของไทย รวมทั้ง ชื่นชอบดาราไทยอย่างมาก รวมถึงอินเดียมีความสนใจและจ้างทีมงานชาวไทยช่วยผลิตภาพยนตร์ โดยผลจากการหารือคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ ได้เสนอแนวทางการขยายตลาดไปสู่จีนและอินเดียให้ที่ประชุมรับทราบ โดยในส่วนของจีนมีข้อสรุปว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงในการขยายตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไปสู่จีน เนื่องจากดาราไทยหลายคนมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในจีน บุคลากรด้านการผลิตภาพยนตร์ได้รับการยอมรับจากจีนและชาวจีนนิยมร่วมงานกับคนไทย ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า ไทยควรเปิดตลาดภาพยนตร์ไทยในจีนโดยเร็วที่สุด อาจจะเริ่มจากการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการร่วมกันผลิตภาพยนตร์ที่ใช้งบลงทุนขนาดกลาง และควรฝึกอบรมภาษาจีนอย่างน้อย 6 เดือน ให้แก่บุคลากรด้านภาพยนตร์ของไทย หรือให้มีล่ามภาษาจีน โดยมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบจัดหาล่าม รวมทั้งส่งเสริมการเปิดช่องทางภาพยนตร์ไทยในสื่อออนไลน์ของจีนมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ของจีนเข้ามาถ่ายทำในไทยมากขึ้น รวมถึงอาจทดลองใช้วิธีขายสิทธิ์เผยแพร่ภาพยนตร์ไทยในจีน โดยไม่เรียกเก็บค่าสิทธิ์ในช่วงแรก และศึกษาระบบโควต้าภาพยนตร์ของจีน รวมทั้งควรมีทีมประเทศไทยที่บูรณาการความร่วมมือในการวางแผนดำเนินงานรายปี อาทิ ร่วมงานเทศกาลและตลาดภาพยนตร์ในจีนของหน่วยงานต่างๆพร้อมกัน การนำเสนอวัฒนธรรมไทย เช่น อาหาร ศิลปวัฒนธรรมไทย ผลไม้ การท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีการเสนอขอความร่วมมือหอการค้าไทยในจีน ช่วยวิเคราะห์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสังคมวัฒนธรรมจีน เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนการดำเนินงาน พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบ แนวทางการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยที่อินเดีย ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ไทย ณ เมืองมุมไบ และควรเน้นภาพยนตร์ไทยที่หลากหลาย เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่สามารถผลิตและตอบสนองต่อตลาดและรสนิยมของผู้ชมได้หลายรูปแบบ อาทิ หนังบู๊ หนังรัก หนังตลก หนังสยองขวัญ หนังชีวิต และหนังคลาสสิค เป็นต้น รวมถึงควรมีการหารือถึงการจำหน่ายสิทธิ์ภาพยนตร์ในอินเดีย ขณะที่การจัดเทศกาลภาพยนตร์ไทย ณ เมืองปุเณ ควรเน้นภาพยนตร์อิสระที่ได้รับรางวัล อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มอบหมายให้วธ. ไปกำหนดปฏิทินการดำเนินการร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ในอินเดียให้ชัดเจนอีกด้วย พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการหารือถึงแนวทางและแผนบูรณาการส่งเสริมและเผยแพร่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) หลังจากที่ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานส่งเสริมฯ ไปประชุมหารือในเรื่องนี้ โดยผลหารือมีข้อสรุปว่าจำนวนเทศกาล ตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศที่ไทยส่งเสริมในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว แต่ควรพิจารณาการดำเนินงานจัดเทศกาลและตลาดภาพยนตร์ให้เข้มข้นขึ้น และแต่ละหน่วยงานควรดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันในรูปแบบของทีมประเทศไทย รวมถึงควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดและลักษณะเฉพาะของแต่ละเทศกาลและตลาดภาพยนตร์ เพื่อวางแผนส่งเสริมในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระดับนานาชาติ โดยที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ วธ.ไปศึกษา วิเคราะห์เทศกาลและตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ รวมถึงพิจารณาหาข้อสรุปงานเทศกาลและตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศที่ประเทศไทยควรเข้าร่วม และกำหนดปฏิทินการดำเนินงาน และวางแผนการบูรณาการการส่งเสริมและเผยแพร่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศภายใต้ทีมไทยแลนด์ โดยให้กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ หน่วยงานสนับสนุนในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สมาคม มูลนิธิ ตลอดจนภาคเอกชนได้รับทราบ เพื่อมีเวลาเตรียมการนำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไปจัดจำหน่าย จัดฉาย หรือเข้าร่วมงานตามแผนการดำเนินงาน และให้นำรายงานให้คณะกรรมการฯทราบในการประชุมครั้งต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้วธ. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดอบรมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยเชิญผู้กำกับต่างประเทศที่มีชื่อเสียงมาเป็นวิทยากรอบรม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้รับรายงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน2560 มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จำนวน 439 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 1,637 ล้านบาท นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการศึกษาและพิจารณาแนวทางการแก้ไข้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่และการจัดจำหน่ายคอนเทนต์บันเทิงไทยผ่านระบบอินเตอร์เน็ทและออนไลน์ และการบูรณาการร่วมโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาตามที่คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ มอบหมายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการ โดยมีข้อเสนอควรมีการร่วมบูรณาการการดำเนินงานที่เรียกว่า การจัดทำ Platform Over The Top ในรูปแบบการใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูล Digital Transaction ของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุกๆคนได้เสมือนห่วงโซ่ ทำให้ Block ของข้อมูลลิงค์ต่อๆกันไป โดยทราบว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์ในข้อมูล อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมควรมีการจัดทำช่องทางการนำเสนอ Content ใหม่ๆ เช่น Thai tube และควรแก้ไขรายการจ่ายเงินของPrompt pay (API) ของไทยด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ