มท.1 สั่งการ ปภ. ประสาน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว

ข่าวทั่วไป Tuesday August 1, 2017 17:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มท.1 ห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนลำปาว จึงได้สั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 4 จังหวัดบริเวณท้ายเขื่อนลำปาว ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี เตรียมพร้อมรับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เน้นย้ำดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก โดยจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัย จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับการอพยพผู้ประสบภัย รวมถึงสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งสร้างการรับรู้ โดยสื่อสารให้ประชาชนรับทราบข้อมูลปริมาณน้ำ และสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ผ่านทุกช่องทางสื่อในพื้นที่ ทั้งนี้ หากระดับน้ำเพิ่มสูงจนถึงจุดวิกฤติให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับกรมชลประทานวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาวจำนวนมาก ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อนลำปาวตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2560 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนลำปาวใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย และอำเภอร่องคำ ร้อยเอ็ด ได้แก่ อำเภอเชียงขวัญ อำเภอธวัชบุรี อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภออาจสามารถ อำเภอพนมไพร อำเภอจังหาร และอำเภอเสลภูมิ ยโสธร ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอค้อวัง และอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสาน 4 จังหวัดดังกล่าว เตรียมพร้อมรับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเน้นย้ำดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก ดังนี้ 1.ด้านการเตรียมพร้อมรับมือ ให้จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเตรียมจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับการอพยพผู้ประสบภัย 2.ด้านการประสานการปฏิบัติ ให้บูรณาการและสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร เจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต เจ้าหน้าที่หน่วยอาสาสมัคร และมูลนิธิ ให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ 3.ด้านการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยสื่อสารให้ประชาชนรับทราบข้อมูลปริมาณน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องผ่านทุกช่องทางสื่อในพื้นที่ เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือ ตัดสินใจแก้ไขปัญหา และอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากระดับน้ำเพิ่มสูงจนถึงจุดวิกฤติ ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปภ.ได้เน้นย้ำหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ให้ประสานการเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของพนังกั้นน้ำ รวมถึงจัดทำแนวคันกั้นน้ำล้อมรอบสถานที่สำคัญ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจของจังหวัด เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำหลาก ตลอดจนติดตามข้อมูลปริมาณฝน สถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อวางแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ