“Thailand: A Nation in a Making” สุวิทย์ เมษินทรีย์ ร่วมกับ มจพ.ขับเคลื่อนบทบาทของมหาวิทยาลัย ในก้าวย่างสู่ไทยแลนด์ 4.0

ข่าวทั่วไป Friday August 11, 2017 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION ความร่วมมือของภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐ เป็นพลังสำคัญ ในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว ตามยุทธศาสตร์ชาติสู่ไทยแลนด์ 4.0 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน "บทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐที่มีบทบาทสำคัญและมีส่วนร่วมกับการพัฒนาและสร้างสรรค์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย ร่วมกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ณ อาคารนวมินทรราชินี มจพ.พร้อมชมนวัตกรรมฝีมือคนไทยสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve และชมการเรียนการสอน โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ภายใต้วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง "Thailand: A Nation in a Making" โดยมีอาจารย์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและนักศึกษาร่วมงาน เน้นย้ำถึงความสำคัญที่ประเทศจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทัน เพื่อรับมือกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นพลวัต ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มีสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมหลายชิ้นที่สร้างสรรค์คุณค่าให้กับสังคมไทย ก่อเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวม และนับเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประเทศ ตอบโจทย์ Thailand 4.0 บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยไม่เพียงเฉพาะรังสรรค์นวัตกรรมในการยกระดับการแข่งขันของประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่จะสร้าง "คนไทยในศตวรรษที่ 21" ที่มีศักยภาพและความพร้อมในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าอีกด้วย ทั้งนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยนวัตกรรม สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve โดยคณาจารย์ นักวิจัยอาทิ นวัตกรรมน้ำยาดัดแปรเพื่อผสมกับน้ำยางพาราสด สำหรับใช้เป็นวัสดุก่อสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์, การสร้างเครื่องจักรกลเพื่อการแปรรูปสมุนไพร หม้อกวนเข้ายาน้ำมันสมุนไพรไทยสองชั้น เพื่อประหยัดพลังงาน, นวัตกรรมด้านหุ่นยนต์กู้ภัย IRAP ROBOT ซึ่งคว้าแชมป์โลก 7 สมัย, การสร้างดาวเทียมแนคแซท (KNACK SAT) ดาวเทียมขนาดเล็กฝีมือคนไทย เพื่อปฏิบัติภารกิจถ่ายภาพโลกจากอวกาศ และการพัฒนายานขับเคลื่อนใต้น้ำชนิดใช้สายควบคุม (ROV) เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป นอกจากนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้เยี่ยมชมการเรียนการสอน โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ภายใต้วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. โดย นายสุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า "โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ได้พัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เป็นหลักสูตร "เตรียมวิศวกรรมศาสตร์" ซึ่งเปิดสอนในสาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สาขาเครื่องกล และสาขาโยธา มีการจัดการเรียนการสอนแบบวิศวกรรมศาสตร์ มุ่งเน้นการสร้างนักเรียนที่พร้อมจะเป็นวิศวกรในอนาคต พร้อมทั้งชมการสาธิตเทคนิคการเชื่อม, การทำโปรแกรมสั่งการหุ่นยนต์ และห้องปฎิบัติการต่างๆ เน้นความสามารถด้านการคำนวณและทักษะพื้นฐานด้านวิศวกรรม โดยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ระหว่างรัฐบาลไทยกับเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านวิศวกรรมศาสตร์และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ โดยสร้างบุคลากรที่ไม่จำกัดเฉพาะสายสามัญ แต่ยังผลิตกำลังคนสายอาชีพ ตอบรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "สถาบันการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของชาติ เพื่อรองรับการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ บุคลากรที่มหาวิทยาลัย ผลิตเข้าสู่สังคมไทยจะต้องเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นวิศวกรที่มี "Head & Hand" ในเวลาเดียวกัน และการฝึกให้มีทักษะงานฝีมือในเชิงช่างและวิศวกรรมเชิงปฏิบัตินั้น ช่วยหล่อหลอมให้นักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ มีจิตใจที่ปราณีต มีวินัย มีความอดทน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตอบโจทย์ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ