เอคเซนเชอร์สำรวจเทรนด์อุตสาหกรรมโรงกลั่น มีแนวโน้มลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น แม้ไม่ใช่การลงทุนหลัก หวังมาช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน

ข่าวทั่วไป Friday August 11, 2017 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--เอบีเอ็ม ธุรกิจต่างมุ่งเน้นสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น ยิ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูง ผลวิจัยล่าสุดจากเอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) พบว่าเกือบ 2 ใน 3 ของธุรกิจกลั่นน้ำมันมีแผนจะเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลภายในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าดิจิทัลจะไม่ใช่การลงทุนที่สำคัญในลำดับต้น ๆ ของผู้ประกอบการก็ตาม งานวิจัย The Accenture Connected Refinery ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ และวิศวกร กว่า 200 คนทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 57) เผยว่าการลงทุนด้านดิจิทัลโดยรวมของบริษัท มีมูลค่ามากกว่าหรือมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แม้แนวโน้มการลงทุนด้านดิจิทัลจะเพิ่มขึ้น แต่มีธุรกิจเพียงร้อยละ 19 ที่จัดให้ดิจิทัลเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญ 3 อันดับแรก สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตในช่วง 3 ปีข้างหน้า เมื่อสอบถามถึงประโยชน์ที่สำคัญที่สุดที่ได้จากเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ตอบส่วนใหญ่ระบุว่า ทำให้การบริหารจัดการโรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น (ร้อยละ 63) ช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการดำเนินงาน (ร้อยละ 59) และทำให้การซ่อมบำรุงมีประสิทธิภาพและคาดการณ์ได้มากขึ้น (ร้อยละ 54) สำหรับการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้น เป็นคำตอบติด 1 ใน 3 ที่ธุรกิจให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้ธุรกิจโรงกลั่นลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 50 ของผู้ตอบเห็นว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ยังคงติดที่ต้องมีการลงทุนเพิ่มนั่นเอง "การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล หากทำได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้เกิดการประหยัดได้เกินจำนวนเงินที่ลงทุนไปเสียอีก แม้จะในระยะสั้น" นางสาวอินทิรา เหล่ามีผล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Resource Operating Group เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว "ความจริงที่ว่าผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนในดิจิทัลมากขึ้น แสดงว่าพวกเขาเล็งเห็นศักยภาพว่า เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ จะมีประโยชน์ต่อการดำเนินงาน แม้ว่าจะกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการนำโซลูชั่นใหม่ ๆ มาใช้ แต่การใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้าและระบบอนาลิติกส์ มาช่วยทำให้ได้ข้อมูลอินไซต์ในการดำเนินงานแบบเรียลไทม์ จะช่วยให้โรงกลั่นมีประสิทธิภาพเหนือชั้นที่สุดในอุตสาหกรรมได้" "ในปัจจุบันประสิทธิภาพการประมวลผลมีราคาถูกลงกว่าเมื่อก่อนมาก ในขณะที่โซลูชั่นเกี่ยวกับอุปกรณ์เคลื่อนที่และ IoT โดดเด่นมากกว่า ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันทั้งหลายจึงไม่เพียงแค่นำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ เข้ามาใช้ แต่ยังต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างครอบคลุม เมื่อนั้น ผู้ประกอบการจะได้เห็นต้นทุนการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเห็นศักยภาพการเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงสร้างพื้นฐานธุรกิจแบบใหม่ ที่เป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำหน้าเหล่านี้" นางสาวอินทิรากล่าวเสริม การลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลที่มากขึ้น สร้างความตื่นตัวด้านความปลอดภัยของข้อมูล เมื่อถามถึงเทคโนโลยีดิจิทัลใดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการมากที่สุด ผู้ตอบส่วนใหญ่ระบุถึงระบบอนาลิติกส์ (ร้อยละ 74) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (ร้อยละ 41) และเทคโนโลยีโมบิลิตี้ (ร้อยละ 38) การที่ความปลอดภัยทางไซเบอร์ติดกลุ่มท็อป 3 แสดงให้เห็นว่ากิจการต่าง ๆ กำลังมองหาสิ่งที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ จากการที่ธุรกิจโรงกลั่นเชื่อมต่อกันมากขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในปัจจุบันและในอนาคตที่วางแผนเอาไว้ ครอบคลุมถึงการเชื่อมต่อด้วย จะมีระบบอัตโนมัติมากขึ้น การย้ายการปฏิบัติการไปยังระบบคลาวด์มากขึ้น โมบายล์โซลูชั่นต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์ และวิทยาการหุ่นยนต์ "เมื่อจำนวนระบบและอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันมีมากขึ้น มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องในซัพพลายของอุตสาหกรรมพลังงานมากขึ้น ก็ยิ่งเสี่ยงที่การจู่โจมทางไซเบอร์จะมีขอบเขตกว้างขึ้น ผลกระทบแรงขึ้น" นางสาวอินทิรากล่าว "ที่ผ่านมา ระบบการจัดการโรงกลั่นและการควบคุมต่าง ๆ เป็นระบบเฉพาะที่ มีการดูแลในพื้นที่ ค่อนข้างอิสระเมื่อเทียบกับระบบเอ็นเตอร์ไพร์ซที่ใช้กับทั้งองค์กร เมื่อมีโครงสร้างขั้นพื้นฐานไร้สายที่เชื่อมโยงผู้คนและเครื่องจักรต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งแอพพลิเคชั่นระบบการบริหารการผลิตเปลี่ยนไปอยู่บนคลาวด์ ก็ต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับเทคโนโลยีระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ด้วย" เมื่อถามถึงความจำเป็นของมาตรการต่าง ๆ กว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ความปลอดภัยของข้อมูลเป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ และสัดส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในกลุ่มผู้ตอบจากแวดวงไอที ความตื่นตัวเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังสะท้อนให้เห็นในรายงาน Accenture Technology Vision 2017 เมื่อสอบถามว่าองค์กรต่าง ๆ ได้อัพเดทนโยบายและรหัสความปลอดภัยบ่อยครั้งเพียงใด ก็พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจจากอุตสาหกรรมปลายน้ำได้อัพเดทเรื่องเหล่านี้บ่อยครั้งกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ (ปีละครั้ง หรือบ่อยกว่านั้น) ระเบียบวิธีวิจัย การสำรวจออนไลน์จัดทำขึ้นในเดือนมีนาคม 2560 โดยบริษัทวิจัย PennEnergy Research ร่วมกับจุลสาร Oil and Gas Journal แบบสำรวจนี้ พัฒนาโดย HSB Solomon Associates LLC ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการการเปรียบเทียบวัด (Benchmarking) และให้คำปรึกษาแก่อุตสาหกรรมพลังงานระดับโลก ผู้ตอบแบบสำรวจเป็นสมาชิกที่บอกรับสิ่งพิมพ์ของ PennWell ประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพในธุรกิจโรงกลั่นกว่า 200 ราย ซึ่งรวมทั้งผู้บริหารในระดับกลางและสูง หัวหน้าแผนก วิศวกร และผู้จัดการโครงการ จากฝ่ายงานต่าง ๆ ทั่วทั้งอุตสาหกรรม ข้อมูลเกี่ยวกับเอคเซนเชอร์ เอคเซนเชอร์ เป็นบริษัทที่ปรึกษามืออาชีพชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการหลากหลาย ให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ การบริหารจัดการดิจิทัล เทคโนโลยีและบริการงานปฎิบัติการ ด้วยประสบการณ์ที่กว้างขวางและทักษะเฉพาะทางครอบคลุมกว่า 40 ภาคอุตสาหกรรมและครอบคลุมทุกสายงานของธุรกิจ พร้อมด้วยเครือข่ายการให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เอคเซนเชอร์สามารถร่วมมือกับลูกค้า เชื่อมต่อธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในองค์กรของลูกค้าและสรรค์สร้างคุณค่าอันยั่งยืนแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรได้ ปัจจุบัน เอคเซนเชอร์ มีพนักงานกว่า 401,000 คนให้บริการลูกค้าในกว่า 120 ประเทศ เอคเซนเชอร์มุ่งพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำงานมีคุณภาพดีขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.accenture.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ