ปภ.แนะ 10 สัญญาณเตือนอันตรายจากระบบเบรกที่ควรระวัง

ข่าวทั่วไป Tuesday August 29, 2017 17:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ขับขี่หมั่นสังเกตอาการเตือนความผิดปกติของระบบเบรก อาทิ เบรกดัง เบรกจม เบรกติด เบรกปัด เบรกหมด หรือเบรกแตก โดยตรวจสอบจากเสียงขณะเหยียบเบรก ประสิทธิภาพและระยะในการหยุดรถ ระดับน้ำมันเบรก รอยรั่วซึมหรือคราบน้ำมันใต้ท้องรถ สัญญาณไฟรูปเบรกบนหน้าปัดรถ พร้อมดูแลรักษาระบบเบรกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชะลอความเร็วและหยุดรถ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ระบบเบรกเป็นอุปกรณ์สำคัญประจำรถ ซึ่งใช้ในการหยุดและชะลอความเร็วของรถ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะ 10 สัญญาณเตือนความผิดปกติของระบบเบรก ดังนี้ 1.เบรกดัง มีเสียงดังขณะเหยียบเบรก หากดังบริเวณล้อคู่หน้าหรือหลัง ส่วนใหญ่เกิดจากผ้าเบรกและจานเบรกใกล้หมด ทำให้เกิดการเสียดสีกัน หากดังเฉพาะล้อใดล้อหนึ่ง เกิดจากฝุ่นหรือหินเข้าไปเสียดสีระหว่างผ้าเบรกกับจานเบรก หรือเลือกใช้ผ้าเบรกที่ไม่ได้มาตรฐาน 2.เบรกสั่น เมื่อเหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกสั่น พวงมาลัยสั่น หรือรุนแรงถึงขั้นทำให้รถสั่นทั้งคัน มีสาเหตุจากการใช้งานระบบเบรกอย่างรุนแรง ทำให้จานเบรกคด บิดตัว สึกหรอไม่สม่ำเสมอ หรือเบรกเกิดความร้อนสูง และนำรถไปขับลุยน้ำ ทำให้ระบบดิสก์เบรกและดรัมเบรกมีปัญหา 3.เบรกทื่อหรือเบรกตื้อ เมื่อเหยียบเบรกแล้วเหมือนเบรกไม่อยู่ แป้นเบรกแข็ง ทำให้ต้องออกแรงเหยียบเบรกมากกว่าปกติ มีสาเหตุจากหม้อลมรั่ว ทำให้แรงสูญญากาศของหม้อลมน้อย จึงรู้สึกเหมือนเบรกไม่อยู่ หากเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล อาจเกิดจากปั๊มไดชาร์จเสีย และสายลมรั่ว 4.เบรกต่ำหรือเบรกจม เมื่อเหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกจมลึกกว่าปกติ โดยเฉพาะหากเหยียบเบรกค้างไว้ แป้นเบรกจะค่อยๆ จม ทำให้การชะลอตัวของรถน้อยกว่าปกติ โดยมีสาเหตุมาจากลูกยางแม่ปั๊มเบรกสึกหรอ ทำให้แรงดันเบรกลดลง จึงต้องเหยียบแป้นเบรกให้ลึกกว่าปกติ หรือเหยียบย้ำเบรกหลายๆ ครั้ง 5.เบรกติด เบรกทำงานตลอดเวลา แม้ปล่อยเท้าออกจากแป้นเบรก ทำให้รถมีอาการตื้อ เบรกร้อน และมีกลิ่นเหม็นไหม้ โดยมีสาเหตุจากลูกยางกันฝุ่นของแม่ปั๊มเบรกฉีกขาด ทำให้กระบอกเบรกมีน้ำซึมเข้าไปจนเกิดความชื้น ส่งผลให้เกิดสนิม หรือลูกสูบเบรกติดขัด ทำให้ลูกสูบไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้าออกได้ 6.เบรกปัด เมื่อเหยียบเบรกแล้วรถมีอาการปัด หรือเอียงไปข้างในข้างหนึ่ง โดยมีสาเหตุมาจากคราบน้ำมันหรือสารหล่อลื่นของชุดช่วงล่างกระเด็นเข้าจานเบรก ทำให้ผิวเบรกลื่นหรือมัน รวมถึงการสึกหรอของชุดระบบเบรก ทำให้แรงกดของเบรกในแต่ละฝั่งแตกต่างกัน 7.เบรกเฟด เบรกมีอาการลื่น หรือเบรกไม่อยู่ในขณะขับรถด้วยความเร็วสูงบนเส้นทางขึ้น – ลงเขา ทำให้ต้องเหยียบเบรกต่อเนื่อง ส่งผลให้ไม่สามารถหยุดรถได้ ในระยะทางที่กำหนด โดยมีสาเหตุจากการเหยียบเบรกแบบรุนแรงบ่อยครั้งในขณะที่ใช้ความเร็วสูง หากรถมีอาการดังกล่าว ให้ใช้ผ้าเบรกที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานมากขึ้น รวมถึงน้ำมันเบรกที่มีค่า DOT สูงขึ้นกว่าเดิม 8.เบรกหมด เมื่อเหยียบเบรก แล้วมีเสียงดังเหมือนเหล็กเสียดสีกัน และเบรกมีอาการสั่น โดยมีสาเหตุมาจากผ้าเบรกหมด ทำให้โลหะของแผ่นผ้าเบรกเสียดสีกับจานเบรก ให้เปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ เพื่อป้องกันผ้าเบรกเสียดสีกับจานเบรกจนได้รับความเสียหาย 9.เบรกสะท้าน เมื่อเบรกกะทันหันแล้วเกิดเสียงดังกระพือ หรือแป้นเบรกสั่นสะท้าน ซึ่งถือเป็นอาการผิดปกติของรถที่ใช้ระบบเบรก ABS เมื่อเหยียบเบรกแบบฉุกเฉิน จะทำให้ล้อล็อค เพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางรถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 10.เบรกแตก เมื่อเหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกจมหรือไม่ทำงาน แม้เหยียบแป้นเบรกจนสุดแต่ระดับความเร็วของรถยังไม่ลดลง โดยมีสาเหตุจากน้ำมันเบรกรั่วซึม เนื่องจาก ท่อน้ำมันเบรกชำรุด ลูกยางเสื่อมสภาพ ทำให้น้ำมันเบรกไหลจนไม่สามารถถ่ายแรงกดไปยังกระบอกสูบเบรกได้ ผ้าเบรกหมดซึ่งหากปล่อยจนผ้าเบรกหมด ผ้าเบรกจะบางจนหลุดออกจากก้านเบรก ส่วนประกอบของระบบเบรกหลุดหลวม อาทิ น็อตยึดขาเบรก สากแป้นเบรกฝักก้านเบรก สายอ่อนเบรกเสื่อมสภาพ ในขณะที่เหยียบเบรก สายดังกล่าวจะพองตัวจนไม่สามารถส่งน้ำมัน ไปยังกระบอกเบรกได้ ลูกยางแม่ปั๊มเบรกและตัวแม่ปั๊มเบรกเสียหาย ทำให้น้ำมันเบรกรั่ว ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ควรหมั่นตรวจสอบระบบเบรก โดยสังเกตสัญญาณเตือนความผิดปกติของเบรก รวมถึงดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบเบรกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการชะลอความเร็วและหยุดรถ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ