ก.ล.ต. เร่งเครื่องปฏิรูปการกำกับดูแลตลาดทุน ดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วม มุ่งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพคุ้มครองผู้ลงทุน ขณะเดียวกันไม่เป็นภาระแก่ผู้ปฏิบัติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 30, 2017 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. เดินหน้างานปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลตลาดทุน (regulatory reform) ให้ความสำคัญกับการพัฒนารากฐานของระบบนิเวศตลาดทุนไทยทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง นำร่องด้วย "โครงการปฏิรูปเกณฑ์ป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์" ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ โดยมุ่งยกระดับความเชื่อมั่นในกฎหมาย และวัดผลการกำกับดูแลจากผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ตลาดทุนเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คุณภาพการกำกับดูแลจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาตลาดทุน ก.ล.ต. จึงต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่ใช้ในตลาดทุนให้มีความสอดคล้องกับสภาวะตลาด เพื่อให้กฎเกณฑ์หรือเครื่องมือกำกับดูแลที่มีอยู่มีประสิทธิภาพ ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนนำไปปฏิบัติได้จริง และตอบโจทย์ได้ตรงจุด รวมทั้งไม่เป็นภาระมากจนเกินไป โดยในการปฏิรูปนั้นจะคำนึงถึงส่วนประกอบสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) สภาพการแข่งขันของธุรกิจและผู้ลงทุนต้องมีทางเลือก (2) ความเชื่อมั่นในกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย และ (3) ให้ความสำคัญกับผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนโดยวัดผลการกำกับดูแลจากลูกค้าหรือผู้ลงทุน" ก.ล.ต. ได้เริ่มนำร่องกระบวนการปฏิรูปกฎเกณฑ์ตลาดทุนโดยเริ่มต้นที่เกณฑ์การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน[1] ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมหรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund/trust) และกองทุนรวม เนื่องจากมีความสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและยกระดับความเชื่อมั่นในกระบวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์และเพิ่มความคุ้มครองต่อผู้ลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์[2] มาร่วมกันทบทวนเป้าหมายในการกำกับดูแล และเปรียบเทียบกับกฎเกณฑ์ที่มีในปัจจุบันในเรื่องดังกล่าว เพื่อประเมินว่ามีความจำเป็นต้องปรับลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น หรือต้องเพิ่มส่วนที่จำเป็นเพื่อทำให้กลไกป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะคำนึงถึงต้นทุนในการปฏิบัติตาม รวมทั้งทำให้กฎเกณฑ์มีความสมดุลและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง โดย ก.ล.ต. คาดหวังผลที่ได้รับครั้งนี้จะเป็นการสร้างแนวทางการกำกับดูแลในลักษณะร่วมกันทำ และวัดผลจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำกับดูแล "กระบวนการปฏิรูปได้เริ่มขึ้นแล้วผ่านการตั้งคณะทำงานสามกลุ่มย่อยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นคณะ ตราสารทุน ตราสารหนี้ กองทุนรวม และกองทุน infra/REIT โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้ก่อนนำไปปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เป็นรูปธรรมในต้นปีหน้า ซึ่งโครงการนี้ ก.ล.ต. ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศซึ่งมีประสบการณ์ในการปฏิรูปกฎหมายในหลายประเทศ มาเป็นผู้ให้คำแนะนำ" นายรพี กล่าวเสริม [1] ความขัดแย้งทางผลประโยชน์อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสถาบันการเงินมีการให้บริการแบบครบวงจรภายในบริษัทในกลุ่มธุรกิจ ที่มีบทบาทหน้าที่หลายอย่างพร้อม ๆ กัน ทั้งเป็นผู้ให้กู้ ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้จัดการกองทรัสต์ และทรัสตี นอกจากนี้ ในบางกรณีโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพย์สินของ infrastructure fund หรือREIT ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้เช่นกัน 2 ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ ผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายบุคคล บริษัทจดทะเบียนในฐานะผู้ออกหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ บริษัทจัดการลงทุน ทรัสตี ผู้จัดการกองทรัสต์ ผู้ดูแลผลประโยชน์ และที่ปรึกษากฎหมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ