กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดอัตราการสูบบุหรี่คนไทยไม่ให้เกินร้อยละ ๒๒

ข่าวทั่วไป Tuesday October 2, 2001 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สธ.
กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อสรุปประเมินผลการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบในภาพรวมระดับชาติ และวางแผนควบคุมการบริโภคยาสูบ ตั้งเป้าหมายภายใน ๕ ปีข้างหน้านี้จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้อยู่ในอัตราไม่เกินร้อยละ ๒๒
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อจัดทำแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับชาติ ซึ่งประเด็นหลักคือ มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนคุ้มครองสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้น้อยที่สุด แต่เนื่องจากปัญหาพิษจากควันบุหรี่เป็นปัญหาสาธารณะ การแก้ไขต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาศัยข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๒๕ จึงต้องมีการทบทวนเพื่อกำหนดรูปธรรมทางการปฏิบัติให้ชัดเจนและทันต่อสถานการณ์ยิ่งขึ้น
นางสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดทำแผนควบคุมการบริโภคยาสูบระดับชาตินี้ ได้มอบนโยบายให้กำหนดแผนขั้นตอนแต่ละปี และมีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๔๕|๒๕๔๙) ได้ตั้งเป้าหมายจะลดอัตราการสูบบุหรี่ไม่ให้เกินร้อยละ ๒๒ ทั้งนี้ ในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมาตั้งเป้าลดไม่เกินร้อยละ ๒๕ จากผลการดำเนินงานพบว่า บรรลุตามเป้าหมายคือ มีผู้สูบ บุหรี่ในอัตราร้อยละ ๒๒.๔ ซึ่งความสำเร็จของไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นที่ยอมรับจากองค์การ อนามัยโลก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผนควบคุมการบริโภคยาสูบที่จะเป็นแผนระดับชาติไม่ใช่เป็นแผนของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น มติที่ประชุมจึงได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ ๔ ชุด ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ เอกชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวข้องได้แก่ ส่วนท้องถิ่น เทศบาล ผู้ประกอบการ ผู้แทนผู้บริโภค พนักงาน นักวิชาการ นักกฎหมาย เจ้าพนักงาน โดยชุดที่ ๑ จัดทำแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบในระดับชาติ โดยจะศึกษาประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อหาข้อสรุปด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบตั้งแต่เริ่มดำเนินการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๔ ชุดที่ ๒ ทำหน้าที่พิจารณาแผนการคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ คือ การกำหนดเขตปลอดบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบ บุหรี่ พ.ศ.๒๕๓๕
ชุดที่ ๓ ทำหน้าที่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพบนซองบุหรี่ เพื่อเป็น การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ ชุดที่ ๔ ทำหน้าที่ พิจารณาการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เรื่องโทษพิษภัยบุหรี่ใช้เวลาดำเนินการ ๒ เดือน และจะประชุมติดตามความคืบหน้าในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔
ทางด้าน พ.ญ.วราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า จากการประเมินผลทางด้านจำนวนบุหรี่ที่สูบและผลของการขึ้นภาษีบุหรี่พบว่า มีทิศทางดีขึ้น โดยจำนวนบุหรี่ที่สูบลดลงจากเคยสูบคนละ ๑,๐๗๖ มวนต่อปี ในปี ๒๕๓๘ เหลือคนละ ๘๑๐ มวนต่อปี ในปี ๒๕๔๓ ส่วนภาษีสรรพสามิตบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก ๒๒,๙๑๑ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๘ เป็น ๒๓,๕๘๑ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๓ แสดงว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ การจัดเขตปลอดบุหรี่ การประชาสัมพันธ์ป้องกันการสูบบุหรี่และสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง อย่างไรก็ดี ในการเพิ่มพื้นที่เขตปลอดบุหรี่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ดังนั้น สถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบ จึงเปิดอินเทอร์เน็ตรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ www.dms.moph.go.th ด้วย--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ