สำนักเทศกิจแถลง “4 ภารกิจตำรวจเมือง”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 15, 2001 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (14 พ.ค.44) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วย นายณัฐชัย คทวณิช และนายชาญ ภัทรกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง “ภารกิจตำรวจเมือง” โดยมีประเด็นสำคัญในการแถลงข่าว 4 ประเด็น คือ การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนในช่วงเปิดภาคเรียน รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ใช้รถใช้ถนนที่ประสบเหตุเดือดร้อนในช่วงฤดูฝน การจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย การเตือนให้ประชาชนที่จะซื้ออาคารระวังการซื้ออาคารผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องช้างเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักเทศกิจได้ประสานกับฝ่ายเทศกิจทั้ง 50 เขต และสถานีตำรวจนครบาล 71 สถานีใน 170 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร ตามแผนการรณรงค์ให้ผู้ใช้รถหยุดให้ประชาชนข้ามในบริเวณทางข้าม โดยได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ จำนวน 354 นาย คอยช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน ศูนย์การค้า สำนักงานเขต และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. แต่ในบางพื้นที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเวลาตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับจำนวนคนข้าม ว่าหนาแน่นในช่วงเวลาใด ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกดังกล่าวได้จัดเป็นประจำทุกปีและตลอดปี โดยเน้นช่วงเปิดภาคเรียนเป็นพิเศษ นอกจากนี้สำนักเทศกิจยังได้ร่วมกับฝ่ายเทศกิจ 50 เขต จัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นต่าง ๆ เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเช่น กรณีรถยนต์เสีย เครื่องดับกลางถนน ทรัพย์สินในบ้านถูกน้ำท่วม ต้องการกำลังคนช่วยเคลื่อนย้าย ตลอดจนทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่เดือดร้อนต่อไป
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการจัดระเบียบหาบเร่ — แผงลอย ที่ได้เริ่มดำเนินการในสมัยผู้ว่าฯ สมัคร นั้น ขณะนี้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต ซึ่งมีกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขต ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการดังกล่าวจะพิจารณาว่าจุดใดในพื้นที่เขตสมควรกำหนดเป็นจุดผ่อนผันให้ทำการค้าได้ และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป กรุงเทพมหานครมีนโยบายให้มีเฉพาะจุดผ่อนผันกับจุดไม่ผ่อนผันเท่านั้นไม่มีจุดทบทวนอีกต่อไป หากผู้ค้ารายใดฝ่าฝืนทำการค้านอกจุดผ่อนผัน สำนักเทศกิจจะดำเนินการจับปรับตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป ในการนี้สำนักเทศกิจได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้งของสำนักและสำนักงานเขต จำนวน 200 คน ให้ปฏิบัติงานด้วยความนิ่มนวล พยายามทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ขอให้ประชาชนโปรดเข้าใจการปฏิบัติงานตามกฎระเบียบของเจ้าหน้าที่ด้วย รวมทั้งขอให้ช่วยสอดส่องดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ หากพบว่าผู้ใดแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ขอให้แจ้งทางสำนักเทศกิจ เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษตามความเป็นจริงต่อไป
นายณัฐชัย คทวณิช กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ทุกเขตกำลังเร่งพิจารณากำหนดจุดผ่อนผันในพื้นที่เขต จึงขอแจ้งให้ประชาชนที่มีอาชีพทำการค้าหาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้จำเป็น ควรรีบติดต่อกับเขตที่รับผิดชอบ เพื่อให้คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต พิจารณาออกทะเบียนให้ทำการค้า ณ จุดผ่อนผันได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวอีกว่า สำนักเทศกิจขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้คิดจะเลือกซื้ออาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย โปรดใช้ความระมัดระวังและควรตรวจสอบการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนว่า เจ้าของอาคารเดิมได้ขายอาคารที่มีลักษณะก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต ดัดแปลงอาคารหรือก่อสร้างผิดจากแบบ เป็นเหตุให้ผู้ซื้อได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเมื่อได้รับคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าว ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้ออาคารใด ๆ ขอให้ตรวจสอบกับฝ่ายการโยธาของสำนักงานเขตในพื้นที่ว่าอาคารที่จะซื้อ ก่อสร้างหรือต่อเติมผิดแบบหรือไม่ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการไม่นานนัก คุ้มค่ากับการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
ด้านนายชาญ กล่าวถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครว่า กทม.ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการนำช้างมาเร่ร่อนประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานครอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยทุกสำนักงานเขตได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราการนำช้างมาเดินประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการกระทำดังกล่าว นอกจากเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอันเนื่องมาจากอันตรายที่อาจเกิดจากช้าง รวมทั้งเป็นการทรมานสัตว์ อย่างไรก็ดีแม้ว่าปัจจุบันปัญหาช้างเร่ร่อนในกทม.จะเบาบางลงไปเนื่องจาก
กทม.ได้พยายามดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงส่งช้างกลับภูมิลำเนาเดิม แต่ปัญหาช้างเร่ร่อนก็ยังไม่หมดไป ในวันนี้จึงได้มีการประชุมคณะทำงานเรื่องปัญหาช้างเร่ร่อน โดยมี กลุ่มเขต 6 กลุ่มเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้เพื่อหามาตรการไม่ให้ช้างเร่ร่อนเข้ามาในกทม. โดยเด็ดขาด ซึ่งขั้นแรกได้วางมาตรการไว้ 3 มาตรการ คือ 1. ผลักดันช้างออกไป 2. ช้างที่ผลักดันไปแล้วจะไม่ให้กลับเข้ามาอีก และ 3 ป้องกันไม่ให้มีการนำช้างเข้ามาในกทม. โดยมาตรการดังกล่าวได้ดำเนินการร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กล่าวเสริมว่า การแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อน นอกจากมาตรการขั้นแรกคือการผลักดันช้างออกไป ยังได้มีการพิจารณาหาแนวทางอื่น ๆ อีก เช่น มีแนวคิดว่าควรขอให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบ โดยอาจมอบให้กระทรวงเกษตรฯ สำรวจปริมาณช้างทั้งจำนวนช้างที่อยู่ในป่าและช้างที่มีคนเลี้ยง โดยเฉพาะช้างที่คนเลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงได้ จะรับซื้อมาได้หรือไม่ รวมทั้งอาจรับควาญช้างเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ด้วย จากนั้นอาจให้หน่วยงานองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวและจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวพิจารณารับช้างไปเพื่อการท่องเที่ยวโดยสำรวจว่าหน่วยงานหรือจังหวัดจะสามารถรับช้างไปได้เท่าไร เป็นต้น--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ