ปฏิรูปการผลิตอาหารใหม่ ใช้ GMP เป็นกฎหมาย เริ่ม 24 ก.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Wednesday July 18, 2001 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--อย.
อย.พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมอาหารทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อยให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล สร้างความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น ประกาศฯ บังคับใช้ GMP เป็นกฎหมาย มีผล 24 กรกฎาคม 2544 นี้เดินหน้าลุยจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการอาหารทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลิตสื่อเสริมต่างๆ หวังให้เกิดความชัดเจนมีความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามกระแสความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการความปลอดภัยด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น ร่วมกับแนวคิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวให้ก้าวทันการแข่งขันในตลาดการค้าเสรีและกระแสการค้าโลกจึงเป็นปัจจัยผลักดันให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องดำเนินการปรับปรุงระบบการควบคุมดูแลด้านอาหารใหม่ ให้สอดคล้องกับแนวทางสากล ซึ่งเน้นการควบคุมอาหารตามความเสี่ยง ทำให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันได้นำหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ Good Manufacturing Practice หรือ GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อทำให้อาหารมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น GMP เป็นข้อกำหนดที่ให้ผู้ผลิตต้องปฏิบัติเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากอันตรายใดๆ ที่จะปนเปื้อนลงสู่อาหารในทุกกรณี โดยจะมีการควบคุมถึงสถานที่ตั้งและอาคารผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง GMP ที่นำมาเป็นมาตรการบังคับใช้ได้มีการปรับจากเกณฑ์สากลให้ง่ายขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการทุกขนาดโดยเฉพาะรายย่อยและเศรษฐกิจชุมชนสามารถปฏิบัติได้ สอดรับกับข้อคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาสัญจรผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยากเย็น กฎหมาย GMP นี้จะมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP ให้ได้จึงจะได้รับอนุญาต ขณะที่ผู้ประกอบการรายเก่าที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว จะให้โอกาสปรับปรุงให้ได้มาตรฐานภายใน 2 ปี ทั้งนี้ จะมีผลต่อผู้ประกอบการรายเก่าตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไป สำหรับกฎหมาย GMP จะบังคับใช้กับสถานที่ผลิตอาหาร 57 ประเภททั้งที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่ายโรงงานรวมถึงผู้นำเข้า ซึ่งอาหารที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP จะอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงและมีผลต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มอาหารควบคุมเฉพาะ 17 ประเภท เช่น นมโค นมปรุงแต่ง นมเปรี้ยว ไอศกรีม อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท น้ำดื่ม เครื่องดื่ม น้ำแข็ง เป็นต้น กลุ่มอาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน 27 ประเภท เช่น น้ำมันและไขมัน อาหารกึ่งสำเร็จรูป น้ำปลา น้ำส้มสายชู ครีม ชา กาแฟ เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำแร่ ซอสบางชนิด ไข่เยี่ยวม้า ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ช็อกโกแลต เป็นต้น กลุ่มอาหารกำหนดฉลาก 12 ประเภท เช่น ขนมปัง หมากฝรั่งและลูกอม ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ วุ้นสำเร็จรูปและขนมเยลลี เป็นต้น และกลุ่มอาหารทั่วไปที่มีปริมาณการส่งออกสูง ได้แก่ อาหารแช่เยือกแข็ง GMP ที่กำหนดนี้เป็นการควบคุมด้านสุขลักษณะทั่วไป สำหรับอาหารบางประเภทก็จะมีการกำหนด GMP เป็นการเฉพาะสำหรับอาหารนั้น เช่น GMP น้ำบริโภค ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเป็นมาตรการบังคับทางกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคยิ่งขึ้น
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า มาตรการ GMP นี้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตั้งแต่ พ.ศ.2529 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย.ได้ดำเนินนโยบายผลักดันแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการอบรมให้ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าใจในหลักการของระบบ GMP ก่อนที่จะกำหนดเป็นกฎหมายจริงจังโดยเฉพาะ GMP น้ำดื่ม ได้มีการให้ความรู้ ความเข้าใจ มาตั้งแต่ปี 2530 และยังร่วมกับสถาบันวิจัยโภชนาการ จัดสร้างโรงงานน้ำตันแบบสำหรับสถานที่ผลิตน้ำบริโภคขนาดเล็ก เพื่อเป็นตัวอย่างในการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP อีกทั้งใช้เป็นที่ศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ซึ่งได้นำผลการศึกษามาจัดทำวิดีทัศน์และคู่มืออย่างง่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กใช้เป็นแนวทางการดำเนินการด้วย ทำให้สามารถแก้ปัญหาปนเปื้อนได้อย่างดี นอกจากนี้ ในส่วนของการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่อง GMP ทาง อย.ได้จัดทำเอกสารคู่คือทางวิชาการหนังสือการ์ตูน GMP แจกฟรีแก่ผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการออกสื่อเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากการเพิ่มข้อกำหนด GMP แล้ว ในส่วนของการอนุญาตได้มีการปรับเลขประจำตัวของผลิตภัณฑ์อาหารจากเลขทะเบียนตำรับอาหาร เลขอนุญาตใช้ฉลากอาหาร และเลขแจ้งรายละเอียดของอาหารเดิมเป็นเลขสารบบอาหาร ซึ่งเป็นเลข 13 หลักที่มีการระบุข้อมูลอย่างครบถ้วนทั้งข้อมูลสถานที่และข้อมูลผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น 12-1-00241-1-0001 ซึ่งแสดงสถานที่ตั้ง สถานะของสถานที่ประกอบการว่าเป็นผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าและหน่วยงานที่อนุญาตสถานที่นั้นๆ รวมทั้งหน่วยงานที่อนุญาตผลิตภัณฑ์ และเลขลำดับที่ผลิตภัณฑ์ของสถานที่นั้นๆ โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องแสดงเลขสารบบอาหารในฉลากตามที่ได้รับอนุญาตทันที ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ต้องยื่นขอรับเลขสารบบอาหาร เพื่อแสดงแทนเลขอนุญาตเดิมภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ และจะได้รับการผ่อนผันให้ใช้ฉลากเดิมไปจนกว่าจะหมดแต่ต้องไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ การปรับเปลี่ยนเลขสารบบอาหาร จะช่วยให้การติดตามตรวจสอบผู้กระทำผิดเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น และการใช้ระบบตัวเลขทั้งหมดทำให้เกิดการพัฒนาระบบการจัดเก็บ การเรียกใช้ และการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้เป็นอย่างดี
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใหม่นี้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ที่จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า คุ้มค่า สมประโยชน์ มีความปลอดภัยมากขึ้น หากมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขออนุญาตตามระบบใหม่ และการขอรับเลขสารบบอาหาร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานงานตอบคำถามควบคุมอาหารระบบใหม่ กองควบคุมอาหาร หมายเลขโทรศัพท์ 02-5907211 และ 02-5907257-8 ทุกวันในเวลาราชการ ซึ่งทำหน้าที่ให้ข้อมูลตอบข้อสงสัยในเรื่องการขออนุญาต การบังคับใช้ GMP แก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงผู้ประกอบการอาหารทั่วประเทศ โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป หรือโทรรับฟังข้อมูลได้ที่ สายด่วนผู้บริโภค 1556 เลือกรหัส 1401-1413 หรือเปิดเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อศึกษาข้อมูลได้ที่ www.fda.moph.th/NewFoodSystem-- จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ