แสงแดดเป็นอันตรายต่อดวงตา

ข่าวทั่วไป Thursday September 14, 2017 12:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ไลฟ์เซ็นเตอร์ ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ เราจึงต้องดูแลดวงตาคู่สวยๆ คู่นี้ให้ปลอดภัยจากแสงแดด เพราะไม่ว่าช่วงนี้จะมีฝนตก แต่แสงแดดยามหลังฝนตกก็แดดแรงไม่แพ้ในหน้าร้อน ฉะนั้นไม่ว่าจะฤดูไหนแสงแดดก็สามารถทำอันตรายต่อดวงตาได้เช่นกัน รศ.พญ. มัญชิมา มะกรวัฒนะ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุรักษ์ตา ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้อธิบายเรื่องแสงแดดว่า แสงแดดจะประกอบด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลต (ultraviolet) หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า รังสียูวี (UV rays) ซึ่งเป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสงที่มองเห็นด้วยตา กล่าวคือ แสงที่มองเห็นด้วยตามีความยาวคลื่น 400-700 นาโนเมตร รังสียูวีจึงมีความยาวคลื่นสั้นกว่า 400 นาโนเมตร มีพลังงานสูง และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ถ้าได้รับรังสียูวีในความเข้มสูง จะส่งผลให้เกิดกระจกตาอักเสบ มีอาการแสบตา น้ำตาไหล แพ้แสง ตาแดง ส่วนระยะยาวจะเกิดต้อลม ต้อกระจก ในอนาคตจอตาอาจเสื่อมได้ ส่วนหลอดไฟแต่ละประเภทก็สามารถปล่อยรังสีออกมาได้เช่นกัน แต่ว่ามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชนิด ซึ่งหลอดไฟที่ใช้ภายในที่พักอาศัย เช่น หลอดฟลูโอเรสเซนท์ หลอดฮาโลเจน หลอด LED เป็นต้น หลอดเหล่านี้มีการปล่อยพลังงานในรูปรังสียูวีออกมา แต่อยู่ในระดับต่ำไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตา อีกทั้งจอคอมพิวเตอร์และจอโทรศัพท์ก็มีรังสียูวีออกมาเช่นกัน แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตก็จะควบคุมการผลิตให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งถ้าเป็นแสงแดดที่ทำอันตรายต่อดวงตานั้น สามารถทำอันตรายในส่วนต่างๆ ของดวงตาได้คือ เปลือกตา แสงแดดทำให้เกิดจุดด่างดำริ้วรอยรอบดวงตา และยังอาจจะทำให้เกิดมะเร็งบางชนิดขึ้นที่บริเวณเปลือกตาอีกด้วย เยื่อบุตา มีการเสื่อมของเยื่อบุตาบริเวณที่ชิดกับขอบตาดำเรียกว่า ต้อลม ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองจากลม ฝุ่น รังสียูวี หากต้อลมลุกลามเข้าไปในตาดำจะเรียกว่าต้อเนื้อ ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดความไม่สวยงาม แต่อาจรบกวนการมองเห็น หรือหากมีการอักเสบ จะทำให้มีอาการปวดและระคายเคืองได้ กระจกตา การได้รับรังสียูวีในปริมาณมาก ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของกระจกตา ทำให้มีอาการปวดตามากน้ำตาไหล มักจะเกิดอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังจากได้รับรังสียูวี เช่น รังสียูวีจากการเชื่อมโลหะโดยไม่สวมใส่แว่นป้องกัน อาการมักจะเป็นอยู่ชั่วคราวประมาณ 1-2 วัน เลนส์ตา การได้รับรังสียูวีทำให้เป็นต้อกระจกมากขึ้น ในแต่ละปีมีประชากรกว่า 16 ล้านคนทั่วโลกตาบอดจากต้อกระจก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของต้อกระจกอาจมีสาเหตุมาจากการได้รับรังสียูวีมากเกินไปซึ่งเป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ จอตา ในคนหนุ่มสาวเลนส์ตาที่ยังใสอยู่ไม่สามารถดูดซับรังสียูวีไว้ได้หมด จึงมีโอกาสที่รังสียูวีจะเข้าไปทำลายจอตาทำให้เกิดจอตาเสื่อมได้ แม้ว่าในจอตาของเราจะมีสารหรือเม็ดสีตามธรรมชาติที่ช่วยป้องกันจอตา แต่สารเหล่านี้จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้กระบวนการป้องกันจอตาตามธรรมชาติลดลงและเกิดการเสื่อมของจอตาได้ง่ายขึ้นเมื่อได้รับรังสียูวี นอกจากนี้รังสียูวียังอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-relaed macular degeneration, AMD) อีกด้วย ดังนั้นเรามีวิธีดูแลดวงตาเมื่อต้องเผชิญกับแสงแดดดังนี้ 1. ควรสวมแว่นกันแดด สวมหมวก หรือกางร่ม ทุกครั้งเมื่อต้องเผชิญกับแสงแดด เพื่อลดการโดนรังสียูวีโดยตรง แว่นกันแดดที่ใช้จะต้องสามารถป้องกันทั้งรังสียูวีเอและบีได้ 99-100 เปอร์เซ็นต์ โดยต้องมีป้ายระบุชัดเจน ทั้งนี้ประสิทธิภาพการป้องกันรังสียูวีไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีหรือระดับความเข้มของเลนส์ เลนส์ควรมีขนาดใหญ่และกว้างสามารถปิดบังดวงตาจากแสงแดดได้ทุกองศา 2. หากรู้สึกว่ามีอาการแสบตา ไม่สบายตา อาจหยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับตา 3. หากไม่จำเป็นควรหลีกเหลี่ยงการออกแดดในช่วงเวลาตั้งแต่ 11 นาฬิกาไปจนถึงบ่าย 3 โมง เนื่องจากเป็นช่วงที่แรงที่สุด ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหาอุปกรณ์ป้องกันแดดสวมใส่ 4. ปรึกษาจักษุแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาและควรตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ