ปภ.แนะเตรียม 'อุปกรณ์ประจำรถ’ ให้พร้อมรับฤดูฝน...เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2017 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การขับรถในช่วงฤดูฝนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าปกติ เนื่องจากสภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน โดยเฉพาะหากผู้ขับขี่ไม่ตรวจสอบและดูแลอุปกรณ์ประจำรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเตรียมอุปกรณ์ประจำรถให้พร้อมขับรถในช่วงฤดูฝน ดังนี้ ใบปัดน้ำฝน - ตรวจสอบใบปัดน้ำฝนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน กวาดน้ำได้สะอาด ไม่มีรอยขุ่นมัว เนื้อยางไม่แห้งกรอบ และไม่มีเสียงดังขณะใช้งาน - เปลี่ยนใบปัดน้ำฝนทุกปี โดยใบปัดมีขนาดเหมาะสมตามมาตรฐานที่รถกำหนด โครงทำจากโลหะ และเนื้อยาง มีคุณภาพดี - ไม่ใช้งานใบปัดน้ำฝนที่เสื่อมสภาพ เพราะนอกจากจะไม่สามารถกวาดน้ำบนกระจกได้หมดแล้ว ยังทำให้กระจกหน้ารถเป็นรอย ส่งผลให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน กระปุกน้ำฉีดกระจก - ตรวจสอบกระปุกน้ำฉีดกระจก มิให้มีรอยรั่วซึม หัวฉีดน้ำไม่อุดตัน สายยางไม่แห้งกรอบ และไม่มีรอยฉีกขาด - เติมน้ำในกระปุกฉีดน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งาน โดยผสมน้ำยาเช็ดกระจกหรือแชมพูลงในน้ำเล็กน้อย จะช่วยขจัดคราบสกปรกบนกระจกได้สะอาดมากขึ้น ยางรถยนต์ - ตรวจสอบยางให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ดอกยางละเอียด และมีความสูงไม่ต่ำกว่า 2.5 มิลลิเมตร หน้ายางไม่สึกหรอ ไม่มีรอยปริ แตก ปูด บวม หรือหลุดร่อน ร่องยางมีความลึกไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิเมตร - หากยางเสื่อมสภาพให้เปลี่ยนยางใหม่ เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมพวงมาลัย การทรงตัว และการหยุดรถ - เติมแรงดันลมยางให้มากกว่าปกติ 2 – 3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว จะทำให้หน้ายางแข็งขึ้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีดน้ำและยึดเกาะถนน สัญญาณไฟ - ตรวจสอบสัญญาณไฟให้มีแสงไฟส่องสว่างทุกดวง ทั้งไฟหน้า ไฟท้าย ไฟตัดหมอก ไฟสูง และไฟเลี้ยว - ปรับตั้งลำแสงให้ส่องในระดับที่เหมาะสม โดยอยู่ในระดับเดียวกันทั้ง 2 ข้าง ไม่สูงหรือต่ำเกินไป - ทำความสะอาดโคมแก้วครอบสัญญาณไฟ มิให้เป็นคราบเหลืองหรือขุ่นมัว จะช่วยให้แสงไฟส่องสว่างมากขึ้น - หากหลอดไฟชำรุดให้เปลี่ยนใหม่ เพราะหากฝนตกหนักจะมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจนและผู้ขับรถคันอื่นมองไม่เห็นรถเรา - เลือกใช้ไฟหน้าที่มีแสงสีเหลือง จะส่องสว่างได้มากกว่าและสะท้อนแสงน้อยกว่า ระบบเบรก - ตรวจสอบระบบเบรกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยหยุดรถได้ในระยะทางที่ปลอดภัย ไม่มีเสียงดัง รถไม่มีอาการปัด และไม่มีรอยรั่วซึมของน้ำมันเบรก - เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกตามระยะที่กำหนด ทุกระยะทาง 20,000 – 40,000 กิโลเมตร หรือทุก 1 – 2 ปี - ตรวจสอบผ้าเบรกและสายเบรก โดยผ้าเบรกต้องไม่สึกหรอ และมีความหนาเพียงพอที่สามารถหยุดรถได้ในระยะที่ปลอดภัย - หากระบบเบรกชำรุดหรือมีอาการผิดปกติ ให้นำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมระบบเบรก จะทำให้หยุดรถได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินไว้ประจำรถ อาทิ ยางอะไหล่ สายพ่วงแบตเตอรี่ แม่แรง ชุดอุปกรณ์ลาก พ่วง จูง ไฟฉาย สเปรย์ไล่ความชื้น รวมถึงเรียนรู้วิธีการใช้งานและตรวจสอบอุปกรณ์ฉุกเฉินให้อยู่ในสภาพ พร้อมใช้งาน จะได้สามารถนำมาแก้ไขสถานการณ์ในเบื้องต้นกรณีรถเสียหรือเกิดเหตุฉุกเฉินในช่วงฝนตก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ