ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำไหลหลากจากอิทธิพลพายุ “ทกซูรี” ใน 9 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 8 จังหวัด พร้อมรับมือผลกระทบจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้อย่างเต็มกำลัง

ข่าวทั่วไป Monday September 18, 2017 12:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานพื้นที่เกิดสถานการณ์น้ำไหลหลากจากอิทธิพลพายุ "ทกซูรี" ใน 9 จังหวัด รวม 29 อำเภอ70 ตำบล 215 หมู่บ้าน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 8 จังหวัดแยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ และสกลนคร ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ พังงา และสตูล รวม 26 อำเภอ 64 ตำบล 209 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากภาวะฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม เพื่อชี้เป้าการปฏิบัติการให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ประสบภัย ผ่านกลไกในระดับพื้นที่ทั้งจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงประสานอาสาสมัครเตรียมพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือ และอพยพประชาชนทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย ตลอดจนระดมทรัพยากรด้านสาธารณภัยของ ปภ. ในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียงสนับสนุนการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุ "ทกซูรี" ตั้งแต่วันที่ 15 – 16 กันยายน 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 9 จังหวัด รวม 29 อำเภอ 70 ตำบล 215 หมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 8 จังหวัด รวม 26 อำเภอ 64 ตำบล 209 หมู่บ้านแยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอนามน อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสมเด็จ อำเภอนาคู และอำเภอห้วยผึ้ง รวม 7 ตำบล7 หมู่บ้าน สกลนคร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเต่างอย รวม 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแพร่อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอเด่นชัย อำเภอสู่เม่น อำเภอลอง และอำเภอสอง รวม 17 ตำบล 38 หมู่บ้าน อุตรดิตถ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอน้ำปาด และอำเภอทองแสนขัน รวม 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 836 ครัวเรือน2,508 คน พิษณุโลก น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม อำเภอชาติตระการอำเภอวังทอง และอำเภอเนินมะปรางรวม 15 ตำบล 53 หมู่บ้าน เพชรบูรณ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอหล่มสัก รวม 7 ตำบล43 หมู่บ้าน ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ สตูล น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอมะนัง และอำเภอละงู รวม 7 ตำบล 39 หมู่บ้านพังงา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท้ายเหมือง และอำเภอเมืองพังงา รวม 5 ตำบล14 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 304 ครัวเรือน1,156 คน ซึ่งสถานการณ์ในภาพรวมอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว อีกทั้งได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบ จากภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทราบสภาวะความเสี่ยงภัย โดยแบ่งมอบพื้นที่และภารกิจอย่างชัดเจน เพื่อชี้เป้าการปฏิบัติการให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ประสบภัย ผ่านกลไกในระดับพื้นที่ ทั้งจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงประสานอาสาสมัครในพื้นที่ ทั้งมิสเตอร์เตือนภัย อปพร. ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบลชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตเตรียมพร้อมปฏิบัติการรับมือสถานการณ์ภัย ตลอดจนระดมทรัพยากรด้านสาธารณภัยของ ปภ. ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่ใกล้เคียงสนับสนุนการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชัน "ทกซูรี" ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำและเคลื่อนเข้าปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือ และประเทศเมียนมา ส่งผลให้ภาคเหนือมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ รวมถึงลมกระโชกแรง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนลดลง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 17 – 18 กันยายน 2560 ทั้งนี้ ปภ.ได้เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำ ริมลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขา ริมชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ