ไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของที่ระลึกที่สหรัฐหวังขยายการส่งออก

ข่าวทั่วไป Wednesday October 4, 2000 11:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ไทยได้รับรางวัล BEST OF THE BOOTH ในการแสดงสินค้าของขวัญ และของที่ระลึกที่แอตแลนต้า ดังนั้น จึงได้รับพื้นที่ฟรีในการแสดงถึงความเป็นไทยในการจัดงานครั้งใหม่ เดือนมกราคมนี้ เป็นช่องทางขยายการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมที่ในปัจจุบันมีมูลค่าจำหน่ายกว่าพันล้านบาท
นายวิม รุ่งกรุต ผู้อำนวยการสำนักอุตสาหกรรมในครอบครัว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับเชิญเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ที่ แอตแลนต้า สหรัฐ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดอีกงาน เป็นช่องทางที่จะขยายการค้าสินค้าประเภทนี้ โดยจากการจัดงานในครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมงานครั้งแรกได้พาผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าร่วมแสดงสินค้าประมาณ 30 ราย ปรากฏว่าสินค้าได้รับ ความสนใจ จนผู้จัดงานได้มอบรางวัลร้านค้าที่ดีที่สุด หรือ BEST OF THE BOOTH เพราะจัดร้านค้าและสินค้า ที่มาจากธรรมชาติเป็นหลัก มีความสวยงาม ดังนั้น การจัดงานครั้งใหม่ ไทยจึงได้รับพื้นที่จัดงานฟรีในส่วนของ INTERNATIONAL BUSINESS CENTER (IBC) เพื่อเป็นส่วนจัดงานแสดงถึงความเป็นไทยไทยในส่วนที่มี ชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เช่น อาหาร การท่องเที่ยวในส่วนต่าง ๆ สายการบิน ซึ่งจะเป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทย เป็นแนวทางที่ช่วยขายสินค้าหัตถกรรมได้อีกช่องทางหนึ่ง
สำหรับการแสดงสินค้าครั้งใหม่นี้ จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานกว่า 20 ราย โดยในขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบการ และจะนัดประชุมผู้ประกอบการในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยผู้ประกอบการ จะต้องนำสินค้ามาแสดง ในขณะเดียวกันควรจะเป็นผู้ที่สามารถในการส่งออกได้ เพราะจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ ในการติดต่อจำหน่ายสินค้า และหากเป็นผู้ประกอบการที่มีการผลิตสินค้าโดยมีการจ้างกลุ่มชาวบ้านในชนบท แบบรับช่วง ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะถือว่ามีการจ้างงานแก่ชาวบ้าน
“แนวโน้มการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมนั้นมีแนวโน้มที่ดี จากที่ปัจจุบันมียอดขายกว่าพันล้านบาท เพราะสินค้าไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยจากที่มีฝีมืที่ดี มีเอกลักษณ์ อย่างไรก็ตามการที่จะประสบความสำเร็จ ในการจำหน่าย ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับปรุง กระบวนการผลิต รูปลักษณ์ สี ให้เป็นความต้องการของตลาด ผู้ซื้อด้วย” นายวิม กล่าว--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ