องค์กรอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชียจับมือธนาคารพัฒนาเอเชีย และภาครัฐบาลเพือขับเคลื่อนวาระความปลอดภัยด้านอาหารในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ข่าวทั่วไป Thursday September 21, 2017 10:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--Baldwin Boyle Group องค์กรอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชีย (Food Industry Asia หรือ FIA) แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุน 6 ประเทศในอนุภูมิภาคแม่ลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) เพื่อสร้างศักยภาพและเสริมสร้างระบบความปลอดภัยด้านอาหาร โดยจะทำหน้าที่ตัวแทนของภาคเอกชนในการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในระดับรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำในภาคอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อผลักดันวาระความปลอดภัยด้านอาหาร อันเป็นผลจากการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "GMS: Towards Inclusive, Safe, and Sustainable Agriculture Value Chains" ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 6 - 8 กันยายนที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หลักของการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 2 คือ การลงนามรับรองและเห็นชอบในแผนยุทธศาสตร์ปี 2561 - 2565 และแผนปฏิบัติการเสียมราฐ เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยรัฐมนตรีเกษตรจากกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ร่วมลงนาม ประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม บทบาทของ FIA ในเวทีนี้เป็นการทำงานร่วมกับคณะทำงานด้านการเกษตรภายใต้โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการประสานความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย ทั้งการประชุมและหารือกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงเกษตรของสมาชิกประเทศกลุ่ม GMS การประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างภาครัฐและเอกชน และการจัดเวทีอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมอาหารยังมีส่วนสำคัญในการจัดเวทีอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร การบริหารจัดการที่ดินและน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพที่เชื่อถือได้โดยเน้นบทบาทของห่วงโซ่คุณค่าทางเกษตรในการพัฒนาอนุภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agritourism) นาย Matt Kovac ผู้อำนวยการบริหารของ FIA กล่าวว่า เป้าหมายของเราคือ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ในรูปของพันธมิตรที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย เพื่อปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร" ทั้งนี้ พันธมิตรและสมาชิกของ FIA ที่เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 2 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประชุมดังกล่าว ได้แก่ ตัวแทนจากบริษัทคาร์กิลล์ บริษัท เนสท์เล่ สถาบันรหัสสากล (GS1) และ บริษัทวอร์เตอร์ส คอร์ปอเรชั่น นาย Kim Keat Ng ประธานคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคของ FIA ได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นของ FIA ในการประสานความร่วมมือในหลากหลายด้านเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งหากดำเนินการ จะทำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกได้ในทันที สาระสำคัญของข้อเสนอแนะโดยนาย Kim Keat Ng ได้แก่ 1. การตรวจสอบย้อนกลับ โดยการนำระบบบาร์โค้ดมาตรฐานสากล GS1 มาใช้ในการอำนวยความสะดวกและตรวจสอบการค้าข้ามพรมแดน รวมถึงการใช้ข้อมูลการค้าระหว่าง รัฐบาลกับรัฐบาล ธุรกิจกับรัฐบาล และ รัฐบาลกับธุรกิจ 2. การสร้างกลไกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการ ทั้งในระดับผู้นำ ฝ่ายจัดการและในด้านของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค 3. การสื่อสารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มด้านสารสนเทศ เช่น AINS 2.0 (Agricultural Information Service Network 2.0) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร และหน่วยเก็บข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 4. การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในอนุภูมิภาคใช้มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่สอดคล้องต้องกัน เพื่อส่งเสริมการค้า โดย FIA จะเป็นผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการหารือระหว่างภาครัฐและเอกชน 5. การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารของแต่ละประเทศในอนุภูมิภาค ซึ่งจะดำเนินการผ่านเวทีอภิปรายระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน นาย Kim Keat Ng ยังกล่าวเสริมว่า FIA ตระหนักดีว่า การจัดวางกรอบนโยบายด้านอาหารสำหรับภูมิภาค ซึ่งขับเคลื่อนบนผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จะช่วยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้จัดหาสินค้า หรือ ซัพพลายเออร์ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมทั้งการเพิ่มผลผลิตและการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเอื้อต่อการทำตลาด นอกจากนี้ การใช้เครือข่ายในรูปของพันธมิตรที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ทำให้ FIA และคณะทำงานฯ มีโอกาสปรับปรุงความปลอดภัยด้านอาหารในภูมิภาค โดยเน้นด้านความเสี่ยงของทั้งซัยพพลายเชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ในลำดับต่อจากนี้ คณะทำงานจะนำเอาข้อเสนอแนะของ FIA และแนวคิดริเริ่มต่างๆ ไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่า จะทำให้เกิดการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน FIA และกระทรวงเกษตรในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ