กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.50 ต่อดอลลาร์ จับตากระแสข่าวตัวเก็งประธานเฟดคนใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 2, 2017 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.50 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 33.34ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีแรงซื้อดอลลาร์หนาแน่นในตลาดโลกส่งผลให้เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ตามคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยมูลค่า 2.3 พันล้านบาท และ 2.59 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯเฉลี่ยทุกช่วงอายุสูงขึ้น 20-30 bps นับตั้งแต่ต้นเดือนก.ย หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าลดขนาดงบดุลและขึ้นดอกเบี้ยตามแผน กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ปัจจัยชี้นำหลักจะมาจากความเห็นจากประธานเฟดและข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ย.ของสหรัฐฯ รวมถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับตัวเก็งตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยถี่ขึ้นกว่าคาด อนึ่ง ท่ามกลางปัจจัยชี้นำหลักซึ่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ในตลาดโลก อาทิ การคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ความหวังครั้งใหม่ต่อมาตรการด้านการคลังของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงการปรับฐานของเงินยูโรหลังผลการเลือกตั้งในเยอรมันซึ่งทำให้นักลงทุนบางส่วนซึ่งเคยมองข้ามความเสี่ยงทางการเมืองในเขตยูโรโซนต้องหันกลับมาระมัดระวังมากขึ้น อีกทั้งในไตรมาส 4/2560 นี้ ภาพรวมเงินทุนไหลเข้าจะแผ่วลง หลังจากช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรไทยด้วยเม็ดเงินสูงเกินปกติในบางวัน เมื่อถึงจังหวะการปรับสถานะการลงทุน การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินเหล่านี้จะสร้างความผันผวนให้กับค่าเงินบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วเทียบกับดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินภูมิภาค ทั้งนี้ กนง.ระบุว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตดีกว่าที่ประเมินไว้จากภาคส่งออกและการท่องเที่ยว โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 60 เป็นขยายตัว 3.8% จาก 3.5% ส่วนเงินเฟ้อจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะที่ผลกระทบจากกฎระเบียบแรงงานต่างด้าวอาจทำให้ค่าจ้างสูงขึ้น นอกจากนี้ กนง.ให้ทัศนะว่านโยบายการเงินคงไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้ทั้งหมด โดยผู้ดำเนินนโยบายเห็นว่าค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินประเทศคู่ค้าและคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อัตราแลกเปลี่ยนจะมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ