ฟิทช์คงอันดับเครดิต DTAC ที่ 'BBB/AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 16, 2017 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่ 'BBB' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ DTAC ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F1+(tha)' ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต การลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่เพิ่มทดแทนคลื่นความถี่เดิม: ฟิทช์เชื่อว่า DTAC ต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อทดแทนคลื่นความถี่จำนวน 35 MHz ที่จะหมดอายุลงตามสัญญาสัมทานในปี 2561 นอกเหนือจากคลื่นความถี่ 2.3GHz ที่บริษัทกำลังจะเข้าทำสัญญากับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1.8GHz และ 850MHz ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 เนื่องจาก DTAC ยังคงให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และ 4G บนคลื่นความถี่ดังกล่าว ฟิทช์คาดว่าราคาเริ่มต้นสำหรับการประมูลน่าจะอยู่ในระดับสูง ใกล้เคียงกับราคาสิ้นสุดการประมูลของคลื่นความถี่ 1.8GHz และ 900MHz ที่เกิดขึ้นในปี 2558 และ 2559 การงดจ่ายปันผลเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน: การงดจ่ายเงินปันผลจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จากการลงทุนในคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับสูงในปี 2561 ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ DTAC จะเป็นบวกในปี 2560 จากการงดจ่ายเงินปันผล โดยบริษัทฯ น่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับเงินลงทุนจำนวนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) น่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.6 เท่าในปี 2560 จาก 1.9 เท่าในปี 2559 ซึ่งน่าจะช่วยรองรับการลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2561 ได้ อัตราส่วนหนี้สินของ DTAC คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2561 แต่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า การแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย น่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2560 และในปี 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญในการทำกำไร มากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Handset Subisidy) โดยตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2560 DTAC และ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (มีอันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ได้ลดการให้ส่วนลดค่าเครื่อง และให้ส่วนลดค่าเครื่องเฉพาะลูกค้าในระบบรายเดือน ฟิทช์คาดว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TrueMobile จะมีการลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องสำหรับลูกค้าระบบเติมเงินในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 หลังจากที่ส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าของ DTAC ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 กำไรที่เติบโต: ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ DTAC จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จาก 2.86 หมื่นล้านบาทในปี 2559 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่องที่ลดลง โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายการตลาด (ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่อง) ต่อรายได้จากการให้บริการของ DTAC ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ลดลงอย่างมาก มาอยู่ที่ร้อยละ 7 จากร้อยละ 12 ในปี 2559 นอกจากนี้กำไรของ DTAC ยังได้รับผลบวกจากการปรับลดค่าธรรมเนียมในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation Fee) เป็นร้อยละ 2.5 ของรายได้ จากร้อยละ 3.75 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 EBITDA Margin ของ DTAC ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 41.1 จากร้อยละ 35.1 ในปี 2559 ส่วนแบ่งทางการตลาดที่คงที่: ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ณ ปัจจุบันไว้ได้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ True Mobile ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับสอง ที่ประมาณร้อยละ 23 – 25 เนื่องจากฟิทช์คาดว่าการแข่งขันในตลาดจะลดความรุนแรงลง โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง เมื่อเทียบกับในปี 2559 และรายได้จากการให้บริการของบริษัทกลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 หลังจากที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่: ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป อันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการใกล้เคียงกับผู้ให้บริการอันดับที่ 2 ซึ่งได้แก่ True Mobile และอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับปานกลางที่ประมาณ 1.5-2.5 เท่า DTAC มีอันดับเครดิตต่ำกว่า AIS เนื่องจาก AIS มีขนาดรายได้ที่ใหญ่กว่า มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่า และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า DTAC อันดับเครดิตของ DTAC อยู่ในระดับเดียวกันกับ Globe Telecom, Inc. หรือ Globe ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ BBB-/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากบริษัททั้งสองมีรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่า Globe จะมีอัตตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า DTAC แต่สถานะทางธุรกิจของ Globe แข็งแกร่งกว่า DTAC เนื่องจาก Globe มีบริการโทรคมนาคมที่หลากหลายกว่า และการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่าในตลาดโทรคมนาคมของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองราย อันดับเครดิตของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC สมมุติฐานที่สำคัญ สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - รายได้จากการให้บริการคงที่ ในปี 2560 และเพิ่มร้อยละ 2-3 ในปี 2561 - EBITDAR margin ในปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 37-39 ในปี 2560 (2559: ร้อยละ 35.1) - เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 1.8-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2560 และ 2561 (2559: 1.9 หมื่นล้านบาท) - ชำระเงินภายใต้สัญญาที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ 2.3GHz ให้แก่ TOT ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 - ลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2561 - ไม่จ่ายเงินปันผลในปี 2560 ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยที่อาจส่งให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต - การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน EBITDAR Margin ไปอยู่ในระดับสูงกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง - ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิต - การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage Ratio สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง - สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง โดยส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการลดลงต่ำกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง - ไม่สามารถหาคลื่นความถี่เพื่อมาทดแทนคลื่นความที่ที่จะหมดอายุลงในปี 2561 - การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท - ความสัมพันธ์ระหว่าง DTAC และ Telenor ที่ลดลง สภาพคล่อง สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์มองว่า DTAC มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่อยู่ในระดับสูง จำนวน 1.83 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ บริษัทมีหนี้ที่กำหนดชำระในอีก 12 เดือน ข้างหน้าในระดับต่ำที่ 165 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ