ปภ.แนะประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในช่วงเทศกาลลอยกระทง...ลดเสี่ยงอุบัติภัย

ข่าวทั่วไป Tuesday October 31, 2017 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยเลือกเที่ยวงานลอยกระทงในสถานที่ปลอดภัย หากพาเด็กไปลอยกระทงด้วยให้เพิ่ม ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ห้ามจุดพลุ ดอกไม้ไฟบริเวณใกล้สายไฟ ควรจุดในที่โล่งแจ้ง ไม่มีวัสดุติดไฟง่าย เพื่อป้องกันเพลิงไหม้ ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นดอกไม้ไฟตามลำพัง ให้สัญญาณก่อนจุดดอกไม้ไฟทุกครั้ง รวมถึงตรวจสอบสถานที่ ให้เรียบร้อยหลังเล่นพลุไฟเสร็จแล้ว จะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และเพิ่มความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทง นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นประเพณีอันดีงามที่มีมายาวนานของชาวไทย แต่จากสถิติแล้ววันลอยกระทงเป็นอีกคืนหนึ่งที่มักเกิดอุบัติภัย ในหลายรูปแบบ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ขอแนะประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติตน อย่างปลอดภัยในคืนวันลอยกระทง ดังนี้ อุบัติภัยทางน้ำ เลือกเที่ยวงานลอยกระทงในสถานที่จัดงานลอยกระทงโดยเฉพาะตลิ่งน้ำไม่สูงชันเกินไป หากเป็นตลิ่งดินให้ระวังดินทรุดตัวหรือตลิ่งพัง ทำให้ลื่นไถลตกน้ำได้ หากโป๊ะที่จัดไว้สำหรับลอยกระทง หรือท่าน้ำมีคนยืนอยู่เป็นจำนวนมาก ให้รอจนคนน้อยลง ค่อยลงไปลอยกระทง เพื่อป้องกันโป๊ะล่ม หรือถูกเบียดจนพลัดตกน้ำ หากพาเด็กไปลอยกระทงด้วย ให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ จับมือเด็กให้แน่น ไม่พาเด็กเดินหรือปล่อยให้เด็กวิ่งเล่นบริเวณริมน้ำ รวมถึงดูแลไม่ให้เด็กลงไปเก็บเงินในกระทง เพราะเด็กอาจถูกกระแสน้ำพลัดจมน้ำ อีกทั้งการแช่อยู่ในน้ำเย็น เป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิตได้ กรณีนั่งเรือไปลอยกระทงกลางน้ำ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขึ้น – ลงเรือ รอให้เรือจอดเทียบท่าก่อนแล้วค่อยเดินขึ้นลงเรือ หากว่ายน้ำไม่เป็น ไม่ควรใช้บริการทางเรือ หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง อุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้ไฟ ห้ามจุดพลุ ดอกไม้ไฟบริเวณใกล้สายไฟฟ้า อาคารบ้านเรือน สถานีบริการน้ำมัน ถังน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุไวไฟ หรือบริเวณที่มีลมพัดแรงอย่างเด็ดขาด ควรจุดในที่โล่งแจ้ง ไม่มีวัสดุที่ติดไฟง่าย เพื่อป้องกันเพลิงไหม้ พร้อมจัดเตรียมถังน้ำ หรือทรายไว้ใกล้ๆ บริเวณที่จุดพลุ หากเกิดเพลิงไหม้จะได้สามารถดับได้ทันที ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นดอกไม้ไฟตามลำพัง เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเล่นอย่างผาดโผนจะทำให้เกิดอันตรายได้ ให้สัญญาณก่อนจุดพลุไฟ หรือดอกไม้ไฟทุกครั้ง ไม่นำดอกไม้ไฟที่ด้านหรือไม่ระเบิดมาจุดซ้ำในทันที ให้ทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 นาที แล้วค่อยนำมาจุดไฟใหม่หลังจาก จุดดอกไม้ไฟแล้ว ห้ามถือหรือวางบนร่างกาย ไม่จุดพลุไฟในภาชนะประเภทโลหะหรือแก้ว ไม่ยื่นหน้าหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่จุดแล้ว ห้ามโยนดอกไม้ไฟที่จุดแล้วใส่กลุ่มคน เพราะจะทำให้ได้รับอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หลังเล่นพลุไฟเสร็จแล้ว ควรตรวจสอบสถานที่เล่นให้เรียบร้อย เก็บเศษดอกไม้ไฟ และดับประกายไฟให้หมด เพื่อป้องกันเพลิงไหม้ อุบัติภัยจากโคมลอย การปล่อยโคมลอย ควรปล่อยโคมในที่โล่งแจ้ง ห่างจากแหล่งชุมชน และแนวสายไฟ ไม่ปล่อยโคมลอยบริเวณสนามบิน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานได้ ประสานท่าอากาศยานในพื้นที่ก่อนเวลาปล่อยโคมลอย โดยให้ข้อมูล วัน เวลา และสถานที่ปล่อยโคมลอย ใช้โคมลอยที่ได้มาตรฐาน โดยโครงทำจากวัสดุธรรมชาติ และไม่ตกแต่งด้วยวัสดุที่ติดไฟง่าย ไม่ดัดแปลงโคมลอย ให้ลอยในอากาศได้เป็นเวลานาน และลอยสูงในระดับการบิน ทั้งนี้ การปฏิบัติตามคำแนะนำในการเที่ยวงานเทศกาลลอยกระทงอย่างปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย และทำให้ประเพณีอันดีงาม อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ