สืบสานศาสตร์พระราชา ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ข่าวทั่วไป Tuesday October 31, 2017 11:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย "หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้" พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2529 ตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการก่อเกิดเป็นโครงการในพระราชดำริ 4,685 โครงการ โดยมีที่มาจากการที่ทรงเห็นความเดือดร้อนของพสกนิกร นำไปสู่แนวทางพระราชดำริในการแก้ปัญหา เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพราะทรงเห็นว่า "น้ำคือชีวิต" งานพระราชกรณียกิจส่วนใหญ่กว่า 70% จึงเป็นงานด้านการชลประทาน ผลจากการทรงงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนถึงวันนี้จึงมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 3,000 โครงการ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัย สกว.กล่าวว่า จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งในโครงการดังกล่าวมีโครงการน้ำและโครงการเพื่อการเกษตรเป็นโครงการหลักที่พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยอย่างยิ่ง ทรงมีพระราชดำริในการวางแนวทางชลประทาน ทั้งการสร้างแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำทั้งในยามปกติและในยามวิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วม มีทั้งโครงการขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญ โครงการอ่างเก็บน้ำ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , โครงการชลประทานมูโนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ยังได้พระราชทานแนวคิดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอีกหลายโครงการ , โครงการแก้มลิง , โครงการฝนหลวง อีกทั้งยังได้ทรงวางแนวทางแก้ไขปลายทางน้ำด้วยซึ่งเป็นที่มาของ "คลองลัดโพธิ์" รวมถึงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพ และทรงมีพระปรีชาสามารถด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำและชลประทานที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อการพัฒนาประเทศ " จากการทรงงานของพระองค์ทำให้ได้เรียนรู้และประจักษ์ชัดว่า พระองค์ทรงเป็นผู้รู้จริง จะเห็นว่าทรงใช้เวลาในการศึกษาเรื่องนั้นๆจนรู้แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ทรงมีความอดทนมุ่งมั่นที่จะหาคำตอบที่เป็นวิชาการหรือการวิจัย ทรงลงมือทดลองทำจนเห็นผลแล้วจึงค่อยขยายผล ทรงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนทรงรับสั่งถามชาวบ้านถึงปัญหาด้วยพระองค์เองทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ และนำมาเป็นแนวทางใช้ประกอบการพัฒนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า " เนื่องจากแนวทางที่พระราชทานนั้นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการใช้ความเป็นระบบมีหลายศาสตร์วิชาเข้ามาร่วม และนำไปสู่การพัฒนาเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงในที่สุด ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกและนำมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากแนวความคิดของพระองค์ ผ่านการศึกษา ทดลอง ถ่ายทอดและขยายผล คือแนวทางดำเนินการที่เรียกว่า "ศาสตร์พระราชา" ในฐานะนักวิชาการจะนำแนวทางการทรงงานมาเป็นแบบอย่างและน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยพัฒนาโครงการต่างๆ ในด้านการจัดการน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีความเชื่อมโยงทั้งในมิติจากบนสู่ล่างและจากล่างขึ้นบนตามรอยพระองค์ท่านต่อไป" จากพระราชกรณียกิจต่างๆ จะเห็นว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงบูรณาการแนวทางการทรงงานทั้งในระดับส่วนกลางและชุมชนให้ดีขึ้น และพัฒนาจนมาเป็นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นปรัชญาที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยให้ดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท รวมถึงเป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า " แม้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่แนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงอยู่ เมื่อประชาคมโลกยอมรับแล้วว่าการพัฒนาจากนี้ไปจะต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นแนวทางการพัฒนาประเทศของไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่บนฐานของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy Philosophy - SEP) มาใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) ภายในปี ค.ศ.2030 ทั้งนี้เพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สืบต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ