กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดโครงการ “พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ เชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล” ก้าวต่อยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม 4.0

ข่าวทั่วไป Friday November 3, 2017 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.-- กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าก้าวต่อยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม จัดโครงการ "พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ เชิงสร้างสรรค์ที่มี อัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล" แสดงสินค้า 50 รายการ และจัดกิจกรรมทดสอบตลาด (Market Test) สินค้าต้นแบบ 15 รายการ ประกอบด้วย 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง ของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนคัดสรรคัดเลือกจากผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3 – 5 ดาว จำนวน 300 ราย จากทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทยเข้าสู่ตลาดสากล โดยได้รับเกียรติจาก นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ ไล์ฟสไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 สยามพารากอน นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยว่า "กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตและแข่งขันได้ การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม และการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร โดยการสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบธุรกิจการวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ การพัฒนาผู้ประกอบการที่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ให้มีความยั่งยืน และพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด หรือผู้ซื้อ เป็นความท้าทายที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำธุรกิจส่งออก หรือนำเข้า หรือผู้ที่ทำธุรกิจภายในประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจชุมชนจะต้องเรียนรู้และปรับตัว รองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ หรือสร้างการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่ท้าทายความสำเร็จ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้สินค้าที่ผลิตออกมานั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีเอกลักษณ์ มีความแตกต่าง และจุดเด่นของการออกแบบเพื่อดึงดูดลูกค้า ทั้งผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้เหนือคู่แข่ง สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผู้ผลิตสินค้า ใช้จุดแข็งชุมชนทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตและ ภูมิปัญญา เพื่อเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิตและบริการในการสร้างเอกลักษณ์สินค้าเพื่อขยายโอกาสทางการตลาดมากยิ่งขึ้น สามารถยกระดับจากท้องถิ่นไปสู่ระดับประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในที่สุด ทั้งนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล จะต้องอาศัยบรรจุภัณฑ์เป็นเสมือนสื่อประชาสัมพันธ์เป็นตัวแทนของผู้ผลิต เพื่อช่วยส่งเสริมให้สินค้าเป็นที่จดจำง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายออกของสินค้าเป็นวงกว้าง ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ OTOP ของไทย ยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ด้วยตนเองได้มากนัก เนื่องด้วยปัญหาหลายประการ อาทิ ปัญหาเงินทุน การขาดความรู้ความเข้าใจ ด้านการตลาด ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ที่เหมาะสม และได้ละเลยความสำคัญของการพัฒนาด้านเหล่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดลดลง และไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การขยายตัวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีอัตราเพิ่มขึ้น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่แสดงความจำนงขอรับการบริการ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ยังมีเพิ่มมากอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หน่วยงานภาครัฐ จึงจำเป็นที่จะต้องตอบสนองความต้องการและช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการให้บริการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างสร้างสรรค์ต่อไป" นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เผยต่อว่า "สำหรับการจัดงานมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทยเข้าสู่ตลาดสากล และเพื่อยกระดับการออกแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ผู้ประกอบการ OTOP ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของภูมิภาค ส่งเสริมการนำองค์ความรู้งานวิจัย วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของสังคมไทย มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพ อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยในงานได้มีการจัดกิจกรรมทดสอบตลาด (Market Test) สินค้าต้นแบบจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ประกอบการโดยตรง พร้อมด้วยการจัดแสดงสินค้า 50 รายการ จากผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3-5 ดาว จาก 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง ของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และอาหารและเครื่องดื่ม ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนคัดสรร หรือขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตกลุ่ม A B และ C จำนวน 133 ราย ในแต่ละท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการออกบูธจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่า 50 ร้านค้า ให้ผู้สนใจได้ร่วมเข้าชมเพื่อแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ต้นแบบเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์ และสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการ 15 ราย ประกอบด้วย 1.รดา จังหวัดเชียงใหม่, 2.กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตภัณฑ์ผ้าใยกันชง จังหวัดเชียงใหม่ 3.หัตถกรรมสแตนเลส บ้านห้วยหวาย จังหวัดกาญจนบุรี 4. กลุ่มอาชีพเปลือกไข่วิจิตรศิลป์ จังหวัดสมุทรปราการ 5.กลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์หวายและ เถาวัลย์พนาวัลย์ จังหวัดพิจิตร, 6.เครื่องเขิน Chakrit Lacqureware จังหวัดเชียงใหม่, 7.กลุ่มวันเพ็ญเงินลายโบราณ จังหวัดสุโขทัย, 8. กลุ่มหัตถกรรมชวาวาดกระเป๋าผักตบชวา จังหวัดพะเยา 9. ศุภชัย เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา, 10.กลุ่มผ้าไหมลายทอง จังหวัดบุรีรัมย์ 11.สมปองผ้าไหม จังหวัดอุบลราชธานี, 12.กลุ่มผ้าหมักโคลน เจ้าพระยา จังหวัดสิงห์บุรี, 13. กลุ่มเครื่องประดับสานเงินสานทอง จังหวัดสมุทรปราการ, 14. กลุ่มจิรวรรณเบญจรงค์ จังหวัดนครปฐม 15. และกลุ่มหัวโขนภูเตศวร จังหวัดสมุทรปราการ สำหรับผู้สนใจที่ต้องการเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.02-367-8389 แฟกต์ 02-382-2178

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ