ประมงสั่งการจนท. ย้ำวิธีวัดขนาดตาอวนต้องรวดเร็วและแม่นยำ หลังออกประกาศกำหนดขนาดช่องตาอวนลากก้นถุง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 15, 2017 13:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--กรมประมง ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินของประเทศไทยอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม ซึ่งเกิดจากการจับสัตว์น้ำในปริมาณมากเกินไป รวมทั้งมีการจับลูกสัตว์น้ำขนาดเล็กมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก โดยอวนลากเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำหน้าดิน ซึ่งสามารถจับสัตว์น้ำได้หลากหลายทั้งชนิดและขนาด ดังนั้น จึงต้องกำหนดขนาดตาอวนก้นถุงเพื่อให้เกิดการจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเหมาะสมขึ้นมาใช้ประโยชน์ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้มีการออกประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดขนาดช่องตาอวนก้นถุงของเครื่องมืออวนลากที่ให้ใช้ทำการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2560 โดยได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 250 ง หน้า 14 และมีผลบังคับใช้วันที่ 10 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยประกาศฉบับที่ 2 ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 67 (3) ในการเพิ่ม รายละเอียดเพิ่มเติมจากประกาศฉบับ 1 เกี่ยวกับวิธีการวัดขนาดช่องตาอวนก้นถุงของเครื่องมืออวนลากที่ใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ในการทำการประมงเพื่อให้การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรมประมงไปเป็นอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับแนวทางการวัดขนาดช่องตาอวนก้นถุงตามประกาศฉบับนี้ จะแบ่งสาระสำคัญเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่วนประกอบของตาอวน ใน 1 ตาอวน จะต้องประกอบด้วยเงื่อนหรือปม (Knot) จำนวน 4 ปม และเส้นด้ายหรือขา (Leg or bar ) จำนวน 4 ขา 2. วิธีการวัดขนาดตาอวนของเจ้าหน้าที่ ในการวัดขนาดตาอวนเจ้าหน้าที่จะต้องวัดขณะที่อวนเปียกน้ำ เนื่องจากจะได้ขนาดจริงของตาอวนตามลักษณะการใช้งาน โดยการวัดขนาดตาอวนจะใช้วิธีการดึงอวนให้ตึงโดยปมกลาง ทั้งสองปมชนกัน และใช้เครื่องมือการวัด (เวอร์เนียร์) วัดจากกึ่งกลางปมช่องตาที่ 1 ยาวต่อกันถึงช่องตาที่ 20 เพื่อลดปัญหาความคลาดเคลื่อนของขนาดตาอวนในแต่ละช่องตา สำหรับบทลงโทษหากพบผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 67 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า การกำหนดขนาดตาอวนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นนับเป็นอีกแนวทางในการช่วยเปิดโอกาสรอดให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจเหล่านี้ได้เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับการทำประมง ต่อไปในอนาคตแล้วนั้น ยังเป็นการสร้างความชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากปลาเป็ดเพื่อผลิตเป็นปลาป่นสำหรับเป็นส่วนประกอบของอาหารเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ