กรม ปภ. เตือน “ง่วงแล้วขับ” ภัยอันตรายถึงชีวิต

ข่าวทั่วไป Wednesday November 28, 2007 11:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ขับขี่ง่วงไม่ขับ โดยผู้ขับขี่ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7 — 8 ชั่วโมง ไม่ควรกินยานอนหลับ ยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ ก่อนขับรถโดยเด็ดขาด หากรู้ตัวเองว่าง่วงนอนให้จอดแวะสถานีบริการน้ำมันหรือที่พักริมทาง เพื่อล้างหน้าหรือพักหลับประมาณ 10 - 15 นาที แล้วค่อยขับรถต่อไป ถ้ารู้ว่าเป็นคนง่วงนอนง่าย ควรพาเพื่อนไปด้วย 1 — 2 คน เพื่อสลับกันขับหรือชวนคุยเพื่อป้องกันอาการหลับใน ที่อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ร้ายแรงขึ้นได้
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน พบว่าส่วนหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุมาจากการที่ผู้ขับขี่ง่วงแล้วขับ ดังนั้น ผู้ขับขี่ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7 — 8 ชั่วโมงต่อวัน หากน้อยกว่านี้จะทำให้สมรรถภาพในการขับขี่รถยนต์ลดลง เนื่องจากการอดนอนหรือการพักผ่อนไม่เพียงพอมีผลต่อการขับรถคล้ายๆกับคนที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดถึง 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเมา โดยอาการง่วงนอนจะทำให้ผู้ขับขี่สมองตื้อ ประสาทสัมผัสช้าลง จนถึงขั้นหลับในได้ หากผู้ขับขี่รู้ตัวว่าต้องขับรถควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน ไม่ควรกินยานอนหลับ ยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ ก่อนขับรถอย่างเด็ดขาด หากพักผ่อนไม่เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะความง่วงกับแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยจะทำให้เกิดอาการหลับในได้ หากรู้ตัวเองว่าเป็นคนง่วงนอนง่าย โดยเฉพาะคนที่นอนกรนและอ้วน มีความเสี่ยงสูงที่จะหลับในในขณะที่ขับรถ ให้หลีกเลี่ยงการขับรถ
ตามลำพัง ควรมีเพื่อนร่วมเดินทางด้วยอย่างน้อย 1 — 2 คน สลับกันขับหรือชวนพูดคุยป้องกันการหลับใน ในกรณีที่ขับรถคนเดียวแล้วเกิดอาการง่วงนอน ให้จอดแวะสถานีบริการน้ำมันหรือที่พักริมทางเพื่อล้างหน้าหรือพักหลับประมาณ 10 - 15 นาทีแล้วค่อยขับรถต่อไป หากนั่งรถไปด้วยกันหลายคน ควรสลับกันขับหรือพยายามชวนคนขับรถพูดคุยเพื่อป้องกันอาการหลับใน กรณีที่ขับรถคนเดียวและเกิดอาการง่วงนอนมาก แต่ไม่สามารถจอดแวะข้างทางได้ ให้ใช้วิธีจับจุด เช่น หลังศีรษะ ใต้จมูก หรือใช้ปลายเล็บนิ้วโป้งจิกลงบนปลายเล็บนิ้วก้อยของมือข้างเดียวกันหรือบีบหัวนมตัวเองแรงๆจะช่วยให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวขึ้นมาชั่วขณะได้ จะเห็นได้ว่า อาการง่วงนอนหรืออาการหลับใน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ผู้ขับขี่จึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากต้องขับรถควรหลีกเลี่ยงการทานยาทุกชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอน ถ้าง่วงนอนมากๆ ไม่ควรฝืนขับรถต่อไปเด็ดขาดเพราะผู้ขับขี่อาจเกิดอาการหลับใน จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนที่รุนแรงได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ