สถาบันอาหาร จี้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว ใช้สิทธิเจเทปา เจาะสินค้าเกษตร-อาหารในตลาดญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Wednesday November 28, 2007 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สถาบันอาหาร จี้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว ใช้สิทธิเจเทปา เจาะสินค้าเกษตร-อาหารในตลาดญี่ปุ่น ชิงความได้เปรียบ ตีกันก่อนประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียร่วมแชร์ตลาด
“สถาบันอาหาร” เผย ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ช่วยผู้ประกอบการไทยขยายตลาดสินค้าเกษตร-อาหารในตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มประมง — กลุ่มผลไม้ พร้อมเร่งผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมเกษตร-อาหารของไทยใช้โอกาสนี้ปรับตัวชิงความได้เปรียบจากการได้รับสิทธิพิเศษในการยกเลิกและการลดภาษี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เจาะสินค้าเกษตร-อาหารในตลาดญี่ปุ่น ก่อนประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ที่เน้นเปิดตลาดสินค้าที่ไม่แตกต่างจากสินค้าของไทย โดยเฉพาะเวียดนาม ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย ที่คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 1 ปีนับจากนี้ กระโดดเข้าร่วมวงขอแบ่งเค้กก้อนโต ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ต่อปี หมวดสินค้าเกษตร-อาหาร มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยในช่วงปี 2545-2549 ประมาณ 95,000 ล้านบาทต่อปี
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JAPAN-THAILAND ECONOMIC PARTNERSHIP AGREEMENT : JTEPA) ซึ่งได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 โดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 มีเนื้อหาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรีนั้นถ้ามองในเรื่องของภาษีไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากเดิมอัตราภาษีนำเข้าของไทยสูงกว่าญี่ปุ่น แต่เมื่อมีการเปิดเสรีรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายต้องยกเลิกหรือลดภาษีให้แก่กัน
อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้ประโยชน์จากความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามา ในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารนั้นสินค้าที่ฝ่ายไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มประมง โดยเฉพาะกุ้ง และกลุ่มผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนสด แช่เย็น แช่แข็ง เช่น ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มังคุด มะพร้าว รวมทั้งน้ำผลไม้ เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นลดภาษีให้ทันทีหรือทยอยลดกระทั่งเป็นศูนย์ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ยังมีไก่ปรุงสุกซึ่งแม้จะไม่มีการยกเลิกภาษีแต่ญี่ปุ่นได้เปิดให้ลดภาษีจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 3 ภายใน 5 ปี และกล้วยสด สับปะรดผลสด เนื้อหมูและแฮมแปรรูปที่ญี่ปุ่นได้จัดสรรให้ในรูปของโควตาภาษีสินค้าเกษตร ส่วนผู้ประกอบการในกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมและแตงชนิดอื่นๆ ซึ่งไทยทยอยลดภาษีจาก 40% เป็น 0% ภายใน 2 ปี มันฝรั่งสด ทยอยลดจาก 35% เป็น 0% ภายใน 8 ปี หอมแดงและกระเทียมสด ที่ไทยยกเลิกภาษีในโควตาภายใต้ WTO ในทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
ขณะเดียวกันในส่วนของความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ 7 โครงการ โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร คือ โครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ทางการตลาดสำหรับอาหารไทย ซึ่งทางสถาบันอาหารได้ร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) และกรมส่งเสริมการ ส่งออก เพื่อเตรียมการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือสนับสนุนโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก
โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการส่งออก ในขณะที่สถาบันอาหารรับผิดชอบในส่วนของโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการตรวจ Positive Lists ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับ งบประมาณสนับสนุนจาก JETRO
ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทย มูลค่าการค้าระหว่างกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี ในหมวดสินค้าเกษตร- อาหาร มูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยในช่วงปี 2545-2549 มีประมาณ 95,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลง มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2549 มีประมาณ 92,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 4.16 จาก 96,000 ล้านบาท ในปี 2545 ในขณะที่มูลค่านำเข้ามีประมาณ 6,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.82 จาก 4,500 ล้านบาท ในปี 2545 สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ไก่ กุ้ง มันสำปะหลัง ข้าว อาหารทะเล และน้ำตาลทราย ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญ คือ ปลาทะเล ประเภท ปลาสคิปแจ็ก ปลาแอลบาคอร์ ปลาแมคเคอเรล
“ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2549 ได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปี 2550 โดยในกลุ่มสินค้าเกษตร-อาหารมีสินค้าหลายรายการที่เหมือนกับไทย เน้นเปิดเสรีผลไม้ นอกจากนี้ญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจากับเวียดนามที่เน้นเปิดตลาดผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ เครื่องเทศและเครื่องปรุงรส และอินโดนีเซียที่เน้นเปิดตลาดสินค้าประมงและอาหารสัตว์ ซึ่งการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้นเน้นเปิดตลาดในสินค้าที่ไม่แตกต่างจากสินค้าไทยของไทย แต่หากมองในมุมกลับแม้ไทยจะไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น แต่ผู้ประกอบการไทยจะสูญเสียมากกว่าหากไทยไม่ ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เพราะผู้ประกอบการไทยอาจสูญเสียความได้เปรียบในด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง คาดว่าอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารของไทยจะมีโอกาสชิงความได้เปรียบจากการได้รับสิทธิพิเศษในการยกเลิกและการลดภาษี เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นเพียงระยะสั้นๆ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าไม่เกินหนึ่งปีนับจากนี้ไปประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนาม จะสามารถบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้เช่นกัน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารของไทยควรเร่งเจาะตลาดญี่ปุ่นให้ได้ก่อนที่ เวียดนามจะเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้สำเร็จ โดยผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น เตรียมข้อมูลด้านแหล่งกำเนิดสินค้าให้พร้อมเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในขั้นตอนการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า รวมทั้งต้องเตรียมขอหนังสือรับรองการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษี จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้ สำหรับการแข่งขันในระยะยาวนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารของไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับการแข่งขันที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามคือ ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก รวมถึงเรื่องการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอของสินค้าที่จะต้องผลิตให้สามารถส่งออกได้ตลอดเวลา
รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 89484 9894, 0 2274 4781-2,0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ