พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 บังคับใช้ 6 พ.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Friday November 2, 2007 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ยึดพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เป็นแนวทางบริหารจัดการสาธารณภัย เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารงาน ซึ่งกำหนดให้กรมปภ. เป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2550 เป็นต้นไป
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า แต่เดิมการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ ยึดแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และกฎหมายว่าด้วยการระงับอัคคีภัย ทำให้การดำเนินงานซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความ เป็นเอกภาพในการอำนวยการและบริหารจัดการสาธารณภัย จึงได้นำกฎหมายมาบัญญัติไว้รวมกัน และ ตราพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 โดยได้กำหนดขอบเขตการปฏิบัติงานช่วยเหลือ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยครอบคลุมภัยทุกประเภท ทั้งภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงภัยทางอากาศและการก่อวินาศกรรม ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการกำหนดนโยบายและแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใน 3 ระดับ ได้แก่ แผนป้องกันฯ ระดับชาติ มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) รับผิดชอบกำหนดนโยบายและแผนในระดับชาติเพียงองค์กรเดียว ส่วนแผนฯ จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด และแผนฯ กทม. มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประกาศใช้ ในกรณีเกิดสาธารณภัยร้ายแรง ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ อีกทั้งให้กรม ปภ. เป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ มีภารกิจหลักในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเพื่อหามาตรการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปฏิบัติการ ประสานการปฏิบัติ ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทุกหน่วยงาน รวมถึงการสงเคราะห์เบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย แนะนำ ให้คำปรึกษา และอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่หน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่มากขึ้น โดยกำหนดให้เป็นหน่วยปฏิบัติการบริหารจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่ โดยการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็นการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้หน่วยงานทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ในแต่ละระดับอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ