สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 8-12 ม.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 15-19 ม.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 16, 2018 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ปตท. ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 78.01เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. 61 ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ 419.5 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.9 ล้านบาร์เรล - Reuters Survey รายงาน Compliance Rate ของ OPEC (11 ประเทศ) เดือน ธ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3% อยู่ที่ 128% - Census Bureau ของสหรัฐฯ รายงานยอดส่งออกน้ำมันดิบ ในเดือน พ.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่งออกไปยังลูกค้า 15 ประเทศ อาทิ แคนาดา (401,000 บาร์เรลต่อวัน) จีน (333,000 บาร์เรลต่อวัน) และอังกฤษ (216,000 บาร์เรลต่อวัน) - Commodity Futures Trading Commission หรือ CFTC ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและตลาด Inter Continental Exchange หรือ ICE ที่ ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ม.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 45,804 สัญญา มาอยู่ที่ 501,134 สูงสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 - ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาด ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ม.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Positionเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8,693 สัญญา มาอยู่ที่ 574,152 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ - กลุ่ม Houthi ในเยเมนข่มขู่ว่าจะปิดเส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบ Bab Al Mandeb เพื่อตอบโต้ซาอุดีอาระเบียที่ปิดล้อมท่าเรือในเยเมนโดยกล่าวหาว่าเป็นท่ารับอาวุธจากอิหร่าน ช่องแคบดังกล่าวอยู่ทางใต้สุดของทะเลแดง ตั้งอยู่ระหว่างประเทศเยเมนในคาบสมุทรอาหรับ กับสาธารณรัฐจิบูตี (Djibouti) ในแอฟริกาตะวันออก(ส่วนที่แคบสุดมีระยะทาง 20 กม.) ช่องแคบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินเรือสำคัญเชื่อมระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น มาอยู่ที่ 752 แท่น ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ ก.ย. 59 และรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในแคนาดา เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 87 แท่น คิดเป็นเกือบเท่าตัวจากเดิม มาอยู่ที่ 185แท่น ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 เดือน - 10 ม.ค. 61 การประท้วงในอิหร่านตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 60 ยุติลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาย Abdolreza Rahmani Fazli แถลงว่ามีผู้เข้าร่วมในการจลาจลทั่วประเทศ 42,000 คน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย และถูกจับกุมเกือบ 4,000 ราย ทั้งนี้รัฐบาลอิหร่านระบุว่าการประท้วงในประเทศครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สหรัฐฯ อังกฤษ อิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ด้านรัฐศาสตร์เห็นว่าผู้นำอิหร่านต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเพื่อไม่ให้เกิดการประท้วงขึ้นอีก - บริษัท Waha Oil ของลิเบียมีแผนส่งมอบน้ำมันดิบ จากท่าส่งออก Es Sider ในเดือน ก.พ. 61 จำนวนรวม 12 เที่ยวเรือ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 22,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 286,000 บาร์เรลต่อวัน แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนและราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เช้านี้ (9.30 น.) ยังคงเคลื่อนไหวใกล้เคียงราคาปิดตลาดสูงสุดในรอบ 3 ปี ทางด้านนักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบปัจจุบันอยู่ในระดับสูงเกินควร อาจจำเป็นต้องเคลื่อนตัวลงมาสู่จุดพัก สอดคล้องกับมุมมองด้านปัจจัยพื้นฐานที่นายFatih Birol ผู้อำนวยการ IEA ชี้ว่าราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 65-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก่อความเสี่ยงว่าผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ จะเร่งผลิตจนทำให้ภาวะล้นตลาดไม่บรรเทาลงตามเป้าประสงค์ของ OPEC อย่างไรก็ตาม นาย Birol มองว่าการผลิตน้ำมันดิบใน เวเนซูเอลามีโอกาสลดลงอีกหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ด้านเศรษฐกิจให้จับตาดัชนีหุ้นเอเชียซึ่งไม่รวมญี่ปุ่น อาจทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (สถิติเดิม คือ 591.50 จุด เมื่อปลาย พ.ย. 50 ส่วนเช้านี้อยู่เหนือระดับ 591 จุด) ตามหลังหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ทำสถิติสูงสุดใหม่ 8 ใน 9 วันทำการแรกของปีนี้ ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ารุนแรงจากการเทขายที่หนักหน่วงที่สุดตั้งแต่ปลาย มิ.ย. 60 นอกจากนี้ ทิศทางการลงทุนของปีนี้ยังชัดเจนว่าเป็นการขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และซื้อเงินยูโร ซึ่งหากดำเนินตามแนวทางนี้จริงจะส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปอีก เป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.5-71.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 61.5-65.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.5-68.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นจากกระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน ธ.ค. 60 ลดลงจากปีก่อน 0.4% อยู่ที่ 995,000 บาร์เรลต่อวัน และโรงกลั่นน้ำมันในประเทศกลั่นน้ำมันลดลงจากปีก่อน 3.4 % อยู่ที่ระดับ 5.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานยอดขายน้ำมันเบนซินเดือน ธ.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% อยู่ที่ 18.45 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันเบนซินในตลาดสหรัฐฯ และยุโรปชะลอตัว เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศหนาวเย็นจัดอย่างฉับพลัน (Cold Snap) ตั้งแต่ปีใหม่ ทำให้การเดินทางสัญจรทางถนนไม่สะดวก กอรปกับ อุปทานน้ำมันเบนซินจากจีนล้นตลาด อาทิ โรงกลั่น Dalian (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท WEPEC ในจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน ก.พ.61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 83% ปริมาณ 46,700 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่บริษัท Sinopec ของจีน เผยแผนเริ่มดำเนินการโรงกลั่น Hainan (กำลังการกลั่น 184,000 บาร์เรลต่อวัน) วันที่ 18 ม.ค. 61 หลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงที่ใช้เวลากว่า 2 เดือน ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 237.3 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 70,000 บาร์เรลอยู่ที่ 13.99 ล้านบาร์เรล ระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 76.5-80.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีนในไตรมาส 1/61 แข็งแกร่ง เนื่องจากภูมิอากาศหนาวเย็นปกคลุมประเทศ ขณะที่บริษัทPetrolimex ของเวียดนาม ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.001%S ปริมาณ 260,800 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 16-21 ม.ค. 61 และ Pertamina ของอินโดนีเซียซื้อน้ำมันดีเซล0.3%S ปริมาณ 375,000 บาร์เรล ส่งมอบ 6-8 ก.พ. 61ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมัน Saudi Aramco Total Refining and Petrochemical Co. หรือ Satorp (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่เมือง Jubail ในซาอุดิอาระเบียมีกำหนดหยุดดำเนินการหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit) หรือ CDU หมายเลข 1 เพื่อซ่อมบำรุงประจำปี เป็นเวลา 46 วัน ตั้งแต่ 8 ม.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ม.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 350,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.98 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 143.1 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.5-83.5เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ