สรุปผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2561

ข่าวทั่วไป Monday February 5, 2018 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2561 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวดีขึ้นในปัจจุบันและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสัปปะรดโรงงาน เป็นต้น ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังกังวลต่อผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็ว และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 67.0 74.9 และ 98.0 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนธันวาคม 2560 ที่อยู่ในระดับ 66.2 74.0 และ 97.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยอยู่ที่ระดับ 80.0 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวม สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยอยู่ที่ระดับ 53.6 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากระดับ 90.2 เป็นระดับ 90.8 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 58 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมาขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในปลายไตรมาสที่ 2 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 4.2-4.5% ได้ในปี 2561

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ