สถานพยาบาลประกันสังคม...มาตรฐานเพื่อผู้ประกันตน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 16, 2007 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สแส.
''อโรคยา ปรมาลาภา'' ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ คำกล่าวนี้คงไม่มีใครกล้าเถียงว่า เรื่องของสุขภาพร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก ต่อให้เราเกิดมาร่ำรวย หล่อ สวย มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต หรือแม้แต่คนหาเช้ากินค่ำก็ตาม หากไม่ใส่ใจดูแลรักษาตัวเอง ก็อาจเกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้
กองทุนประกันสังคมเปรียบเสมือนหลักประกันความมั่นคงในชีวิตแก่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานให้ความคุ้มครองดูแลลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยจ่ายเงินสมทบแล้วได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ที่ไม่เนื่องจากการทำงาน รวมถึงการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน โดยกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนใช้สิทธิประกันสังคมมากที่สุด ทั้งนี้ การจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยได้นั้น ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
สำนักงานประกันสังคมมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม รองรับผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษา โดยสำนักงานประกันสังคม เหมาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ให้แก่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม ตามจำนวนผู้ประกันตนที่เลือกสถานพยาบาลในแต่ละแห่ง ซึ่งปัจจุบัน สปส.เหมาจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม ในอัตรา 1,284 บาท/คน/ปี และมีการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้แก่สถานพยาบาลนอกเหนือจากเงิน เหมาจ่ายดังกล่าว ได้แก่ ค่าบริการทางแพทย์ตามภาระเสี่ยงในอัตรา 211 บาท ค่าอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนเฉลี่ยคนละ 55 บาท อีกทั้งยังมีค่ารักษาพยาบาลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ค่ายาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV อีกด้วย
นอกจากนี้ กรณีอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน บริการทันตกรรม ค่าคลอดบุตร และค่ารักษาพยาบาลกรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนสามารถเบิกได้จาก สปส.โดยตรงต่างจากค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย ที่ สปส.จ่ายให้แก่สถานพยาบาล ส่วนค่ารักษาพยาบาลในการปลูกถ่ายไขกระดูก การเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา การปลูกถ่ายไต การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร ค่ายาสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีภาวะโลหิตจางนั้น โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้โดยตรงจากสปส. ซึ่งเมื่อรวมทุกรายการแล้ว สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนโดยเฉลี่ยคนละ 2,150 บาท/คน/ปี และสถานพยาบาลมีหน้าที่ต้องให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งและจำนวนเงินที่ใช้ในการรักษา ที่ผ่านมา มีกรณีเจ็บป่วยหลายกรณีที่
ผู้ประกันตนมีการเจ็บหนักและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ที่ตนเองเลือก ดังเช่น ผู้ประกันตนรายนี้ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยจากกองทุนประกันสังคม
นางรุ่งฤดี รุ่งวิริยะวงษ์ ภรรยาของนายเกรียง รุ่งวิริยะวงษ์ ผู้ป่วยประกันสังคมที่ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดแตกในสมอง เล่าให้ฟังถึงการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลยันฮีว่า “ตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ที่โรงพยาบาลได้รับการบริการที่ดีมาก ทั้งแพทย์ที่ทำการรักษา คอยให้คำแนะนำและให้กำลังใจกับครอบครัวผู้ป่วยตลอดเวลา ส่วนพยาบาลที่มาดูแลก็น่ารักมาก ทุก 2 ชั่วโมงจะมีการมาพลิกตัว มีการดูดเสมหะ มีการมาเปลี่ยนมาผ้าอ้อมให้ตลอดเวลา”
นอกจากนี้ นางรุ่งฤดี กล่าวถึงประโยชน์ของการทำประกันสังคมว่า “ความจริงแล้วทำประกันสังคมไว้เพื่อความปลอดภัย ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาใช้ในกรณีเจ็บป่วยแบบนี้ ซึ่งครั้งแรกที่ทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้ คำว่า สองล้าน สามล้าน ก็ผุดขึ้นมาในความคิดเสมอ คิดว่าเงินจำนวนนี้จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยแน่นอน แต่ในขณะนี้ทุกเดือนเวลาไปสอบถามค่าใช้จ่ายกับทางโรงพยาบาลว่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ทางโรงพยาบาลบอกว่าไม่มีเลย จะมีเพียงแต่ช่วงที่ออกจากห้องไอซียู ผู้ป่วยจะต้องฝังเข็ม ซึ่งนอกเหนือจากประกันสังคม จ่ายเพียงแค่วันละประมาณ 700-800 บาทเท่านั้นเอง ในส่วนของผู้ป่วยเองก็มีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอีกไม่นานก็สามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้แล้ว”
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า “การเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ป่วยนอก” คือ ป่วยไปพบแพทย์ฯ ตรวจวินิจฉัย จัดยาให้แล้วกลับบ้าน หรือต้องนอนพักรักษาเป็น “ผู้ป่วยใน” ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโรงพยาบาลตามบัตรฯ ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่าย ยกเว้นขออยู่ห้องพิเศษหรือขอแพทย์พิเศษเอง ส่วนสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกถือเป็น “สถานพยาบาลหลัก” และมีสถานพยาบาลเครือข่าย เช่น โรงพยาบาล ขนาดเล็กหรือคลินิก ซึ่งถ้าระบุไว้ผู้ประกันตนก็ไปรักษาพยาบาลได้ ในขณะเดียวกันถ้าโรคบางโรค โรงพยาบาลตามบัตรฯ รักษาไม่ได้ เช่น การรักษาโรคมะเร็ง หรือการผ่าตัดหัวใจ โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ ก็จะมีโรงพยาบาลระดับสูง ที่โรงพยาบาลตามบัตรฯ จะเป็นผู้ส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษา โดยที่ค่ารักษาพยาบาลอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลตามบัตรฯ”
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า “ปัจจุบัน สปส. ได้มีการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการเยี่ยมผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาลประกันสังคม กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการมาดูแลและรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของผู้ประกันตนในการเข้ามาพักรักษาตัวในสถานพยาบาลประกันสังคมว่ามีสุขหรือทุกข์อย่างไร รวมถึงการเยี่ยมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อร่วมกันแก้ไขและนำไปปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ สร้างความอบอุ่น และมีทัศนคติที่ดีต่อสำนักงานประกันสังคม และเกิดความมั่นใจในการใช้บริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคมมากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้สถานพยาบาลประกันสังคมมีการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ และดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยประกันสังคมมากยิ่งขึ้น ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแต่ละครั้ง ทางสำนักงานประกันสังคมจัดให้มีการประเมินผลทุกครั้ง”
“นอกจากการออกตรวจเยี่ยมผู้ป่วยตามสถานพยาบาลประกันสังคมแล้ว สปส.ก็ยังมีการจัดการคัดเลือกสถานพยาบาลในดวงใจประจำทุกปี เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้น และจูงใจให้แก่สถานพยาบาล แข่งขันกัน เพื่อยกระดับคุณภาพสถานพยาบาลให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น สำหรับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกสถานพยาบาลในดวงใจนั้น จะต้องเป็นสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม และได้รับคะแนนประเมินรวมด้านจำนวนบุคลากร การบันทึกเวชระเบียน คะแนนมาตรฐานรวม การพัฒนาคุณภาพตลอดจนข้อร้องเรียนอยู่ในระดับตั้งแต่ 97.56 % ขึ้นไป ”
หากผู้ประกันตนไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีจากสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม สามารถแจ้งข้อเท็จจริง เรื่องร้องเรียน พร้อมแนบรายละเอียดดังนี้ ชื่อ - นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกันตน หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ วันที่เข้ารับการรักษา และสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ โดยส่งข้อร้องเรียนมายังสำนักงานประกันสังคม และแจ้งข้อมูลได้ที่กองประสานการแพทย์ฯ โทร. 0-2956-2504-6 และสายด่วน1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะรับเรื่องร้องเรียนทันที เพื่อดำเนินการติดตามและแจ้งผลกลับทุกกรณี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ