จิตแพทย์วอนพ่อแม่ เข้าใจ ให้เวลาคุณภาพกับลูกวัยรุ่น แนะ 7 ข้อเอาชนะใจวัยโจ๋

ข่าวทั่วไป Thursday October 18, 2007 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--โรงพยาบาลมนารมย์
ปัญหาวัยรุ่นทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องสิวๆ ที่ใครจะบีบได้ง่ายๆ ทั้งปัญหาเด็กติดเกมส์ ติดแชด ติดเพื่อน ติดหรู สารพัด “การติด” ที่มีความอันตรายใกล้เคียง “ยาเสพติด” เลยทีเดียว หลายคนกล่าวว่า วัยหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ เป็นวัยที่เปราะบางที่พ่อแม่จะต้องทะนุถนอมอย่างสุดๆ เพราะหากก้าวผ่านเส้นอุปสรรคเหล่านี้ไปได้แล้ว อนาคตของเด็กวัยแอ๊บแบ๊วแบบนี้ คงสดใสและก้าวไปได้อีกไกลอย่างที่พวกเขาตั้งใจไว้ โดยไม่ทำให้พ่อแม่และคนใกล้ชิดต้องคอยปวดใจ
หนึ่งในผู้ใกล้ชิดปัญหาวัยรุ่น อย่าง พญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น หรือ “คุณหมอปลา” ของน้องๆ แห่งโรงพยาบาลมนารมย์ ที่คุ้นเคยกับการรับมือปัญหาวัยรุ่นเป็นอย่างดีมากว่า 10 ปี เล่าให้ฟังถึงที่มาของความตั้งใจศึกษาเล่าเรียนด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นอย่างเอาจริงเอาจังว่า “เพราะเป็นคนที่ติดใจกับความน่ารัก ไร้เดียงสาของเด็ก และถ้าทำอะไรแล้วจะต้องทำให้ได้เพอร์เฟค ทำให้เมื่อเห็นหมอเด็กส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญและสนใจกับจิตใจเด็กเท่าที่ควร ทำให้เป็นแรงผลักดันให้เบนเข็มมาเรียน จิตเวชเด็กอย่างเต็มตัวที่ศิริราช หลังจากเป็นบัณฑิตแพทย์ที่จุฬาได้ไม่นาน”
“หมอปลา” ใช้เวลาสะสมประสบการณ์มาหลายแห่ง ทั้งการเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เป็นอาจารย์พิเศษที่แพทยศาสตร์ รามาธิบดี และสอนพิเศษให้น้องๆ พยาบาลที่ม.หัวเฉียว ทำให้วันนี้ หมอปลาพกความมั่นใจมาอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยทำให้ปัญหาทั้งเด็กและวัยรุ่น ได้รับการแก้ไขคลี่ขลายให้เบาบางลง คุณหมอปลามีโอกาสเดินทางไปศึกษางานในต่างประเทศปีละครั้ง และแต่ละครั้งก็ได้ข้อมูลทางการแพทย์ใหม่ๆ มาปรับใช้ในการรักษา ซึ่งพบว่า การดูแลเอาใจใส่เด็กและวัยรุ่นของสังคมไทยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ หากนับรวมประเทศในเอเซียแล้ว การดูแลสุขภาพจิตของคนเอเซียยังด้อยกว่าคนยุโรปหรืออเมริกาอยู่มาก “คนตะวันตก จะเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตเป็นอันดับต้นๆ การพบจิตแพทย์เพื่อรับการบำบัดเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนการไปหาหมอฟัน หรือหมอโรคผิวหนัง” คุณหมอปลาแสดงทัศนะอย่างผู้มีประสบการณ์
เพราะเป็นคนที่มีโอกาสเปิดหูเปิดตารับวิทยาการแพทย์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้หมอปลาคิดว่า เพราะความเป็นโลกาภิวัตน์ของสังคม ที่ผสมผสานทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องห้ามไม่ให้เกิดขึ้นกันได้ยาก หากเรานำข้อดีของสังคมตะวันตก ผนวกกับจริยธรรมที่ดีงานของสังคมไทย จะทำให้ปัญหาวัยรุ่นและเด็กไทย จะค่อยๆ ทุเลาเบาบางลงได้ คำแนะนำที่คุณหมอปลาตั้งใจมอบให้กับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อเป็นคู่มือเลี้ยงลูกเบื้องต้น ฉบับวัยรุ่น 7 ประการ คือ
1. พ่อแม่ต้องปฏิบัติตัวเสมือนเป็นพวกเดียวกันกับลูก โดยไม่จำเป็นต้องตามใจจนเกินพอดี เช่น ส่งเสริมให้ลูกมีวินัย ใม่ใช่การเร่งเร้าให้ลูกขับรถเร็ว หรือ การใส่ใจปัญหาบุหรี่และสารเสพติด มิใช่เห็นเป็นเรื่องเล็กและไม่อยากขัดใจ
2. เมื่อเกิดปัญหาขึ้น มีการสอนและตักเตือนแบบเพื่อนเตือนเพื่อน
3. ปรับคำพูดและอารมณ์ให้เป็นมิตรกับลูกให้มากยิ่งขึ้น
4. เปรียบเทียบการดูแลลูกเหมือน เจ้านายดูแลลูกน้อง เราต้องการมีเจ้านายอย่างไร ลูกก็อยากได้เจ้านายแบบนั้น เช่น ไม่จู้จี้จุกจิกจนเกินไป ไม่บ่นพร่ำเพรื่อ เป็นต้น
5. มีเวลาให้ลูกอย่างเพียงพอ ลูกแต่ละคนต้องการเวลาจากพ่อแม่ไม่เท่ากัน
6. เวลาที่มีให้ลูกต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่สักแต่ว่าให้ๆ แต่ไม่ใส่ใจในปัญหาของลูกสักเท่าไหร่
7. รู้จักฟัง สังเกต และคิดตามลูก เอาใจลูกมาใส่ใจตนเองให้มากๆ เพื่อทำให้เกิดความรักความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
นอกจาก 7 ข้อคิดที่หมอปลากล่าวมากล้ว ยังได้เตรียมข้อคิดเด็ดๆ ไว้สำหรับพ่อแม่ เพื่อช่วยกันสร้างพัฒนาการ เสริมความรักความสัมพันธ์อย่างมีคุณภาพแก่ลูกวัยรุ่น ในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “วัยรุ่น ไม่วุ่นอย่างที่คิด” หนึ่งในกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้แก่คนไทย ในโครงการ “คนไทย พลังใจดี” พบเวิร์คชอปและละครสั้นสะท้อนมุมมองปัญหาวัยรุ่น ในการบรรยายที่จะเกิดขึ้น วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2550 นี้ เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลมนารมย์ สำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้แล้ว ที่โทร. 02-725-9595 (ที่นั่งมีจำนวนจำกัด)
ปัจจุบันโรงพยาบาลมนารมย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางสุขภาพจิต ได้เปิดให้บริการคลีนิคจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โดยทีมคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในปัญหาเด็กและวัยรุ่น นำโดย พญ.พัชรี พรรณพาณิช พญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ และพญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล คอยให้คำปรึกษาเป็นประจำตามตารางเวลา ซึ่งท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แผนก เวชระเบียน โรงพยาบาลมนารมย์ หรือ ทางเว็บไซต์ www.manarom.com
**** เผยแพร่ข้อมูลเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี โดย โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางสุขภาพจิต ต้องการสอบถามข้อมูล หรือรับข้อมูลทางอีเมลล์ กรุณาติดต่อ พิมพร ศิริวรรณ อนุศักดิ์ ขันธสิทธิ์ โทร. 081-558-8085 หรือ 02-864-3910

แท็ก ยาเสพติด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ