“ดีแทค ค้นฅนดี” ประกาศแล้วรายชื่อ “5 ฅนดี” เตรียมถ่ายทอดชีวิตผ่านรายการ “ฅนค้นฅน” ตุลาคมนี้

ข่าวทั่วไป Tuesday September 18, 2007 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ดีแทค
หลังใช้เวลา 2 เดือนเต็มในการสรรหาบุคคลที่อุทิศตนทำความดีเพื่อสังคม ภายใต้โครงการ “ดีแทคค้นฅนดี” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาส 80 พรรษา พ่อของแผ่นดิน ดีแทคก็สามารถคัดเลือก “5 ฅนดี” เพื่อนำชีวิตมาถ่ายทอดให้ได้ชมผ่านรายการ “ฅนค้นฅน” ทางช่อง 9 อสมท. เริ่มออกอากาศตอนแรกวันอังคารที่ 2 ตุลาคมนี้ โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมร่วมส่งกำลังใจ และจุดประกายขยายความดี เพื่อแสดงความสนับสนุนให้โครงการดีๆ ทั้ง 5 คน ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากดีแทครวม 8 ล้านบาท
โครงการ “ดีแทคค้นฅนดี” เป็นโครงการที่ดีแทคจัดขึ้น ด้วยความร่วมมือของบริษัท ทีวีบูรพา ผู้ผลิตรายการ “ฅนค้นฅน” เพื่อร่วมกันคัดสรรคนดีที่ได้รับการเสนอชื่อโดยประชาชนทั่วไปที่ต้องการให้นำเรื่องราวการทำความดีของพวกเขามาออกอากาศ โดยจากรายชื่อผู้ทำความดีเพื่อสังคมที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามา ทีมงานได้ศึกษาประวัติและไปสังเกตการณ์การทำงาน จากนั้นได้ทำการคัดเลือกแล้วจำนวน 5 คน ได้แก่
สมประสงค์ มั่งอะนะ (ออกอากาศ 2 ตุลาคม 2550) ครูชาวอุ้มผางที่ปฏิเสธตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนที่เจริญแล้ว อุทิศตนสอนหนังสือให้เด็กชนเผ่าที่ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ในโรงเรียนในเขตกันดารห่างไกลที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งพบว่าเด็กที่เข้ามาเรียนต่อในระดับมัธยมมีเพียงน้อยนิด ทั้งที่เด็กจบประถมการศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนมาก แต่พบว่าเด็กที่จบออกไปส่วนใหญ่เป็นเด็กชนเผ่าฐานะยากจน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบนภูเขาสูง บ้างก็อยู่ตามชายแดนห่างไกล โอกาสที่จะได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาจึงแทบเป็นศูนย์ ครูสมประสงค์จึงใช้เวลาในช่วงปิดเทอมเดินทางไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ขับรถฝ่าหล่มปลัก ข้ามเส้นทางภูเขาที่ลาดชัน เดินเท้าเป็นวัน ๆ เพื่อเข้าถึงหมู่บ้านอันห่างไกล เพื่อไป “ขอเด็ก” จากพ่อแม่ให้มาเรียนหนังสือ โดยครูยังต้องรับผิดชอบการกินอยู่ ที่พัก เสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียนให้เด็ก ๆ ด้วย จากปีแรกที่มีนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จำนวน 38 คน ถึงวันนี้มีเด็กนักเรียนในความดูแลของครูสมประสงค์ถึง 250 คน จาก 18 หมู่บ้าน 8 ชนเผ่า โดยครูต้องรับผิดชอบหาเงินให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1.5 แสนบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก ๆ ทั้งหมด
ธีรวัฒน์ ศรีปฐมสวัสดิ์ (ออกอากาศ 16 ตุลาคม 2550) ชาวนครปฐม อดีตนักกีฬารักบี้และประธานสโมสรกีฬาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เคยภาคภูมิใจในความแข็งแกร่งของตัวเอง แต่วันนี้กลายเป็นคนที่ต้องนั่งวีลแชร์ไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่จากอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬาจนเป็นอัมพาตค่อนตัวไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ตลอดเวลาที่เขาต้องพึ่งพาคนรอบข้างดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำ เขาคิดถึงศักดิ์ศรีของคนพิการที่ควรจะอยู่ได้อย่างเป็นอิสระ มีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไป และเป็นภาระของคนรอบข้างให้น้อยที่สุด หลังจากฝึกตัวเองให้นั่งบนรถเข็นและตั้งคอซึ่งอ่อนพับขึ้นมาได้ เขาเริ่มฝึกอาชีพเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตัวเองโดยทำเสื้อยืดออกขาย และเมื่อออกสู่โลกภายนอกอีกครั้งในสภาพของคนพิการจึงได้เห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนพิการในสังคม เขาจึงเริ่มเรียกร้องสิทธิ์เพื่อคนพิการโดยใช้ข้อนิ้วก้อยมือขวาที่เป็นเพียงส่วนเดียวที่ใช้การได้ พิมพ์บทความส่งไปตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ และเริ่มแนวคิดการจัดตั้งองค์กรคนพิการเพื่อช่วยเหลือผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกับตน รวมกลุ่มคนพิการมาพบปะพูดคุยเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือคนพิการด้วยกัน โดยได้ก่อตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการนครปฐมขึ้น ทำหน้าที่ส่งถ่ายข่าวสารของคนพิการ ให้คำปรึกษาฉันท์เพื่อน ทำงานด้านการพิทักษ์สิทธิ์ผู้พิการโดยมุ่งไปที่การรณรงค์เรื่องสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับคนพิการ
กรรณิการ์ มีพันธุ์ (ออกอากาศ 23 ตุลาคม 2550) สตรีผู้อุทิศตนเพื่อสุนัขและแมวจรจัด จากแรงบันดาลใจที่ได้พบกับตายายที่มีฐานะยากจนพากันนำสุนัขที่ป่วยใส่กระสอบและลากมาหาหมอเพราะตัวเองอุ้มไม่ไหว จึงคิดว่าทำไมเขาอยู่ในฐานะที่ลำบากแล้วยังมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อสุนัขและแมวจรจัดอีกทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังแทบเอาตัวไม่รอด เธอจึงเริ่มนำอาหารมาเลี้ยงสัตว์จรจัดข้างถนนเป็นกิจวัตรจนเกิดเป็นความผูกพัน และทำมาเรื่อยๆ จนขยายวงกว้างขึ้น โดยชักชวนเพื่อนๆ ที่รักสัตว์มารวมกลุ่มเพื่อให้ความช่วยเหลือสัตว์จรจัดโดยไม่ได้ขึ้นกับมูลนิธิใด ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุนัขและแมวมาจากทุนของตัวเอง หากเดือดร้อนขึ้นมาเมื่อใดจึงจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ที่รักสัตว์จากเว็บไซต์พันทิพย์ที่มีการตั้งกองทุนกลางขึ้นมาให้ความช่วยเหลือ เธอได้นำสุนัขที่ผ่านการรักษาโรคและทำหมันแล้วราว 50 ชีวิต ไปพักอยู่รวมกันที่คอกสุนัขร้างของ กทม. แต่ภายหลังเมื่อ กทม. ขอคืนพื้นที่เธอได้ขอความช่วยเหลือจากวัดพระบาทน้ำพุเพื่อใช้พื้นที่บางส่วนสร้างที่อยู่ให้สัตว์เหล่านี้ แต่เธอก็ต้องดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารสำหรับสัตว์เอง เพราะทางวัดมีค่าใช้จ่ายมากอยู่แล้ว และยังมีสัตว์ที่ยังไม่มีที่อยู่อีกจำนวนมากที่กำลังรอความช่วยเหลือ เธอพยายามผลักดันให้เกิด พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดโดยการรวบรวมรายชื่อผู้ที่สนับสนุนให้มี พรบ. นี้เพื่อยื่นเสนอต่อสภา ซึ่งหาก พรบ. ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง สุนัขและแมวจรจัด รวมถึงสัตว์อื่นๆ ก็จะได้รับการดูแลและยังเป็นการช่วยเหลือสังคมในระยะยาว
เกษร วงศ์มณี (ออกอากาศ 30 ตุลาคม 2550) หรือหมอหน้อย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชาวเพชรบูรณ์ เธอและสามีซึ่งเป็นนายแพทย์ทำงานเพื่อผู้ป่วยและคนในชุมชนอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โดยไม่นึกถึงความเหน็ดเหนื่อยและชีวิตส่วนตัว ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนมากมายรวมถึงการสร้างโรงพยาบาลตำบลขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยได้แรงบันดาลใจจากที่ได้เห็นว่าสถานีอนามัยของรัฐซึ่งยังไม่มีความสมบูรณ์ ขาดแคลนบุคลากร ยารักษาโรค เครื่องมือแพทย์ ประชาชนจึงไม่เชื่อมั่น เมื่อเกิดเจ็บไข้ก็ต้องเดินทางเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลในเมือง ทำให้ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย หมอน้อยจึงนำข้อด้อยต่างๆ เหล่านี้มาปรับปรุง วางเป้าหมายพัฒนาสถานีอนามัย 31 แห่ง ใน 22 ตำบล ให้กลายเป็นโรงพยาบาลตำบล ทุกๆ วัน หมอน้อยต้องออกไปให้ความรู้แก่ประชาชน พบปะผู้นำชุมชนตามพื้นที่ทุรกันดาร ตอนกลางคืนก็ต้องออกไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ทำงานในเวลากลางวัน เพื่อทำความเข้าใจและเพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมกับโครงการ โดยให้ชาวบ้านร่วมกันลงขันคนละ 2 บาทต่อเดือน โดยนำเงินที่ได้จากกองทุน 2 บาทนี้มาจัดจ้างเจ้าหน้าที่และส่งเด็กๆ ในชุมชนให้เรียนพยาบาล ทันตกรรมสาธารณสุข ถึง 30 คน เพื่อกลับมาประจำตามโรงพยาบาลตำบล ทำงานเพื่อถิ่นเกิดของตนเองเมื่อเรียนจบ เช่นเดียวกับตัวเธอที่เคยได้รับโอกาสจากสาธารณสุขให้เรียนจบจบพยาบาล
พงศา ชูแนม (ออกอากาศ 6 พฤศจิกายน 2550) หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการป่าต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพร ข้าราชการป่าไม้รุ่นใหม่ผู้เชื่อมั่นว่าการรักษาป่าให้คงอยู่ไม่ใช่แค่การดูแลป่าไม้ไม่ให้คนมาทำลาย แต่ต้องดูแล “คน” เพื่อไม่ให้มาทำลายป่า กับงานเครือข่ายชุมชน “กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำหลังสวน” เพื่อพิสูจน์ความเชื่อว่าคนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ งานของเขาให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นอันดับแรก แล้วจึงเชื่อมโยงให้คนเห็นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ ไปสู่การจัดการทรัพยากรและเศรษฐกิจชุมชน โดยเกิดกิจกรรมแยกย่อยออกมาอีกจำนวนมาก เช่นโครงการประปาภูเขา กลุ่มออมทรัพย์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โครงการเด็กนักเรียนต้นน้ำ หลักสูตรอบรมเยาวชน ปัจจุบันเขายังทำโครงการต่าง ๆ แต่สำหรับเกียรติยศของคนๆ หนึ่งที่เขาภูมิใจที่สุดคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าการรักษาป่าคือการรักษาคน การดูแลคนคือการดูแลป่าอย่างแท้จริง คือความยั่งยืนไม่ใช่แค่อุดมคติหรือความเพ้อฝัน
ติดตามชีวิตและให้กำลังใจการทำงานเพื่อสังคมของ 5 ฅนดีจากโครงการ “ดีแทคค้นฅนดี” ได้ทางรายการ “ฅนค้นฅน” ทางช่อง 9 อสมท. ทุกวันอังคารเวลา 22.00 - 22.50 น. ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยดีแทคขอเชิญให้ผู้ชมร่วมส่ง SMS ให้กำลังใจบุคคลเหล่านี้ได้ โดยพิมพ์ D เว้นวรรคตามด้วยหมายเลขฅนดีที่ต้องการให้กำลังใจ (D 1 สมประสงค์ มั่งอะนะ D 2 ธีรวัฒน์ ศรีปฐมสวัสดิ์ D 3 กรรณิการ์ มีพันธุ์ D 4 เกษร วงศ์มณี D 5 พงศา ชูแนม) แล้วส่งมาที่หมายเลข 8080 (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) หรือส่งไปรษณียบัตรให้กำลังใจได้ที่ ตู้ ปณ. 232 ปณจ.ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10310 ตั้งแต่วันนี้ — 20 พฤศจิกายน 2550 โดยฅนดีทั้ง 5 คนนี้จะได้รับทุนสนับสนุนโครงการคนละ 1 ล้านบาท และฅนดีที่ได้รับ SMS และไปรษณียบัตรให้กำลังใจจากผู้ชมมากที่สุดแต่ละอันดับจะได้รับทุนสนับสนุนโครงการอีกรวม 3 ล้านบาท.
สอบถามเพิ่มเติม
ลูกค้า
1678 DTAC Call Center
สื่อมวลชน
MEDIA RELATIONS DIVISION - DTAC
ทัศนีย์ 081-658-6560 สิริพร 081-612-9809 พิมพกานต์ 081-614-9828 สุชลี 081-710-9879 พรนานา 081-623-9895

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ