“IQ ดี EQ เด่น เพราะเล่นหมากล้อม”กลยุทธ์สร้างคน พัฒนาเยาวชน สร้างชาติ

ข่าวกีฬา Thursday March 8, 2018 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น การพัฒนาเด็กและเยาวชนในยุคที่การแข่งขันสูงดังเช่นปัจจุบัน ให้ประสบความสำเร็จและมีคุณภาพชีวิตที่เป็นสุขได้นั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงครู อาจารย์ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความสามารถทางเชาวน์ปัญญา (IQ) กับการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง แสวงหากลยุทธ์หรือวิธีการเลี้ยงลูกให้มีทั้ง IQ และ EQ เพื่ออนาคตของลูกน้อยและหนึ่งในวิธีที่ได้รับการทดสอบผ่านงานวิจัยว่ามีส่วนช่วยสร้าง IQ และ EQ ควบคู่กันไปก็คือ การเล่น "หมากล้อม" หรือ "โกะ" นั่นเอง จากผลวิจัย "การศึกษาผลของการเล่นหมากล้อมที่มีต่อเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการเผชิญปัญหา และความคิดเชิงระบบ" ของ ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดเผยในงาน "ครบรอบ 25 ปี หมากล้อมในประเทศไทย" ช่วงเสวนาหัวข้อ "IQ ดี EQ เด่น เพราะเล่นหมากล้อม"จัดโดยสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย พบว่า เยาวชนที่เล่นกีฬาหมากล้อมมีการเปลี่ยนแปลงทางบวกในด้านพัฒนาเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงระบบ ช่วยให้ผู้เล่นมีสมาธิและความจำดีขึ้น รวมถึงมีความสามารถในการวางแผนเพิ่มขึ้น โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาวิจัยและวัดผลกระทบจากการเล่นหมากล้อมต่อ 4 ทักษะ คือ 1.ด้านเชาวน์ปัญญา 2.ด้านความคิดสร้างสรรค์ 3.ความกล้าในการเผชิญปัญหา และ 4.ความคิดเชิงระบบ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอายุระหว่าง 11-15 ปี และระดับอุดมศึกษาอายุระหว่าง 18-22 ปี ที่เล่นและไม่ได้เล่นหมากล้อมรวมทั้งผู้ปกครอง จำนวนทั้งสิ้น 80 คน โดยใช้เวลาในการศึกษาวิจัยนาน 18 เดือน ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 80% ระบุว่าหมากล้อมช่วยในเรื่องทักษะการประเมินสถานการณ์, 68% พบว่า หมากล้อมช่วยให้เป็นคนคิดนอกกรอบ ขณะที่ 72% บอกว่ามีผลต่อจินตนาการที่ดีขึ้น, 48% ระบุว่ามีสมาธิในการเรียนดีขึ้น และ 52% ระบุว่าทำให้รู้จักการยืดหยุ่นและสามารถผ่อนสั้นผ่อนยาวกับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม ฯลฯ หลังจากที่ได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งผู้ที่ใกล้ชิด พบว่า เด็กที่เล่นหมากล้อมมีลักษณะเฉพาะ คือ มีบุคลิกสบายๆ ในการพูดจา มีความคิดที่ละเอียดอ่อน ขณะที่ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กมีความคิดเชิงระบบและความคิดเชิงวิเคราะห์ดีขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในรุ่นเดียวกัน มีนิสัยอ่อนน้อม ลักษณะเด่นของหมากล้อมอีกอย่างคือ ผู้แพ้จะให้ผู้ชนะย้อนดูการวางหมาก เพื่อเรียนรู้ว่าชนะได้อย่างไรเพื่อนำมาศึกษาส่งผลให้เกิดการยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่นอีกด้วย" ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว ด้านดร.มติ ทาเจริญศักดิ์ นักหมากล้อมระดับฝีมือ 3 ดั้ง ผู้ทำวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ กล่าวเสริมว่า จากการวิจัยด้านพฤติกรรมของเด็กที่เล่นหมากล้อม พบว่า เด็กเรียนรู้วิธีคิดจากครูผู้สอนโดยตรงผ่านการใช้เม็ดหมาก เป็นการช่วยฝึกวิธีคิดอย่างเป็นระบบ จากเดิมเด็กที่เพิ่งหัดเล่นหมากล้อมใหม่ๆ จะมีปัญหาคือ เด็กไม่รู้ว่าจะทำอะไรเป็นสิ่งแรก ซึ่งครูก็จะเป็นผู้บอกว่าจะต้องทำอะไร พอเด็กเริ่มมีเป้าหมาย ลำดับถัดไปคือจะต้องคิดก่อนว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น เมื่อเด็กเรียนรู้จากครูแล้ว เด็กจะเกิดความคิดเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา เมื่อเด็กเข้าใจในกระบวนการคิด เด็กก็จะสามารถเชื่อมโยงใช้ในชีวิตประจำวันได้ "สิ่งสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากคนที่เล่นหมากล้อมคือ ช่วยจัดระบบความคิดในเรื่องของงานว่า งานด่วนมาก่อนงานใหญ่ แนวคิดหลักคือการจัดลำดับว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของนักเล่นหมากล้อม เมื่อพื้นฐานด้านกระบวนความคิดดี ก็จะนำมาสู่การดำเนินชีวิตที่ดีในอนาคต" ดร.มติ กล่าว ขณะที่ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2561 สมาคมฯมีนโยบายส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้และฝึกฝนการเล่นหมากล้อมเพิ่มขึ้น โดยจัดโครงการ "ค่ายครูสู่ดั้ง" ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายครูผู้สอนหมากล้อม ขณะเดียวกัน ยังดำเนินการเผยแพร่กีฬาหมากล้อมแก่นักเรียนนักศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ครอบคลุมสถานศึกษาทุกสังกัด เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเด็กและเยาวชนยุคใหม่ให้มี IQ และ EQ ที่ดียิ่งขึ้น "กีฬาหมากล้อมไม่เหมือนกับกีฬาประเภทอื่น ที่มุ่งแต่เอาแพ้เอาชนะ หมากล้อมเป็นกีฬาที่ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้ลองเข้ามาเล่น ก็จะรู้ดีว่าเป็นกีฬาที่ช่วยฝึกกระบวนการคิด แม้จะพ่ายแพ้ในเกม แต่เราก็จะได้บทเรียน ขณะเดียวกันผู้เล่นจะเจอบทเรียนมากมาย เพราะตามปรัชญาของหมากล้อม ถ้าคิดเอาชนะคือแพ้ เป็นการฝึกให้คนรู้จักมองตัวเอง กลับมามองดูตัวเองว่าพลาดตรงไหน เราต้องเคารพคู่ต่อสู้ที่เก่งกว่าเรา นำมาสู่การใช้ชีวิตในสังคม เพราะเราต้องอยู่กับสังคม เราคงไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าอยู่ลำพังเพียงคนเดียว ในฐานะนายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทยจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เยาวชนหันมาเล่นกีฬาหมากล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยเล่นหมากล้อมประมาณ 1 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก" นายก่อศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
แท็ก หมากล้อม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ