ทิศทาง " กระบวนการยุติธรรมไทยในการเปลี่ยนแปลง"

ข่าวทั่วไป Monday September 10, 2007 11:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กระทรวงยุติธรรม
นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยภายหลังการจัดงานประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 5 ว่า เป็นเวทีที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า กระบวนการยุติธรรมไทยยังมีปัญหาอยู่มาก และเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก ตลอดจนเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่มีความสลับซับซ้อน ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ หัวใจของการดำเนินการในเรื่องนี้คือการผสานพลังของทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรม ก่อตั้งปณิธานที่จะร่วมพัฒนากระบวนการยุติของประเทศไทยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นให้ได้ เพราะปัญหาประการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คือการขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องรอบด้านและทันต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาในหลายเรื่องที่มีการนำเสนอในการประชุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำหลักนิติธรรมมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม และเรื่องอื่น ๆ นับเป็นประเด็นที่ท้าทายที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะต้องร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันคือการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อจะได้สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้
ด้าน นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการออกกฎหมายหรือปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในหลายเรื่องที่ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว และในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 5 หัวข้อ " การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก" ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดย สำนักงานกิจการยุติธรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-5 กันยายนที่ผ่านมานั้น ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะทั้ง 5 ประเด็นหลัก คือ 1) แนวทางการปฏิรูประบบงานตำรวจ 2) มิติใหม่ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม 3) กระบวนทัศน์และการเปลี่ยนแปลง 4) กระบวนการยุติธรรมไทยกับมาตรฐานสากล 5) กระบวนการยุติธรรมกับผลกระทบทางสังคมในกระแสโลกาภิวัตน์ โดยหลายเรื่องมีข้อเสนอที่ชัดเจน อาทิ การปฏิรูประบบงานตำรวจ บทบาทในการสอบสวนของอัยการ การนำระบบยุติธรรมทางเลือกมาใช้ เป็นต้น ซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ ทั้งนี้ในฐานะเลขานุการฯ จะได้นำเสนอรายงานสรุปดังกล่าวต่อคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 15 กันยายนนี้.//
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113,109

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ