ปภ. บูรณาการทุกภาคส่วนรับมือพายุฤดูร้อน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Friday March 9, 2018 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฤดูร้อนในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี หลายพื้นที่มักเกิดพายุฤดูร้อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนจึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนอย่างเต็มกำลัง และช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้ การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย - ติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง - แจ้งเตือนประชาชนรับมือสถานการณ์ภัย หากมีประกาศเตือนพายุฤดูร้อน ให้แจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตก การเตรียมพร้อมรับมือ - เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดชุดเฝ้าระวัง ชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) อาสามัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบลประจำพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย - ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้าง ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบ ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่สาธารณะ และต้นไม้ริมข้างทางให้อยู่ในสภาพปลอดภัย - เข้มงวดตรวจสอบป้ายโฆษณาให้มีความมั่นคงแข็งแรง กรณีป้ายโฆษณาอยู่ในสภาพชำรุด ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน และฝ่าฝืนกฎหมาย ให้แจ้งเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หากไม่ปฏิบัติตามให้พิจารณารื้อถอนและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การช่วยเหลือและฟื้นฟู - ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุซ่อมแซมบ้านเรือน อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา สังกะสี ตะปู ไม้ แจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น - ประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง อาทิ กระเบื้อง สังกะสี ตะปู ไม้ หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสมหรือเท่าที่จ่ายจริง ดังนี้ - ค่าจัดหาสิ่งของในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละ ไม่เกิน 3,000 บาท - ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 33,000 บาท - ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าว โรงเรือนสำหรับเก็บพืชผล และคอกสัตว์ที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 5,000 บาท - กรณีบ้านเช่าเสียหายทั้งหลังหรือเสียหายบางส่วนจนอยู่อาศัยไม่ได้ ให้ช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้านแก่ผู้ประสบภัย เท่าที่จ่ายจริง ในอัตราครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน - กรณีบาดเจ็บ ต้องรักษาตัวในสถานพยาบาลตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นเงินจำนวน 3,000 บาท - กรณีมีผู้เสียชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ รายละไม่เกิน 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจ่ายเงินช่วยเหลืออีกไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์สนับสนุนการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว รวมถึงเร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ