เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ : ความรู้คู่ความบันเทิง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 7, 2007 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--สสวท.
วิทยาศาสตร์ ใครว่าเป็นเรื่องยากหรือมีแต่ในห้องปฏิบัติการ ลองมองดูรอบตัวเรา จะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ตื่นเช้าลืมตาอยู่บนเตียง ล้วนสามารถอธิบายด้วยหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าการที่เรามองเห็นและทำสิ่งต่างๆในชีวิตทุกๆวัน ต่างมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น และใครจะคิดว่าความรู้จะคู่กับความบันเทิงได้ อีกไม่นานเกินรอ “เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้” ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สามแล้ว จะมาพบกับทุกท่านอีกครั้ง
เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ ปี พ. ศ. 2548 จากความสำเร็จในปีแรก รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะให้เด็กและเยาวชนของประเทศไทยได้มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ดีๆ และน่าสนใจเช่นนี้อีก
ในปีนี้ สสวท. สถาบันเกอเธ่ และ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยการสนับสนุนจาก บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และ สวทช. กำหนดจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ระหว่าง 13 - 23 พฤศจิกายน 2550 ให้พวกเราเลือกไปชมกันได้ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร ที เค พาร์ค หรือ ถ้าน้องอยู่แถวรังสิต ก็สามารถไปดูได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตั้งอยู่ที่รังสิต คลอง 5
ศ. ดร. สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ถือว่าเป็นสื่อที่มีคุณค่าเพราะเป็นการถ่ายทำจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เรื่องจริงเหล่านั้นสามารถที่จะนำมาอธิบายด้วยเหตุด้วยผลทางวิทยาศาสตร์ ถ่ายทอดจากผู้รู้จริงมาสู่ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เช่น การเกิดปรากฏการณ์ตามธรรมชาติซึ่งเราดูผิวเผินก็ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ได้ลึกซึ้งทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขภาพ เรื่องอาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อมของตัวเราเองที่เกิดผลกระทบ จะทำให้การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นของจริงได้ความรู้ ความลึกซึ้งได้อย่างชัดเจน จึงสามารถทำให้ผู้เรียนรู้ได้ความเข้าใจ สามารถที่จะไปเปรียบเทียบกับสิ่งรอบตัว กับชีวิตประจำวัน หรือสิ่งที่ได้อ่านจากในตำรา ก็สามารถที่จะได้ทำความเข้าใจได้มากขึ้น แล้วจะเกิดการจดจำไปได้ตลอดชีวิตเพราะจดจำจากความเข้าใจ”
นอกจากนั้น ผู้อำนวยการ สสวท. ยังได้กล่าวถึงความพิเศษของเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ปีนี้มีความพิเศษที่แตกต่างจากปีที่แล้วว่า ปีนี้เพิ่มสถานที่ฉายเป็น 4 แห่ง จำนวนวันที่ฉายยาวกว่าปีแล้ว นอกจากนั้นผู้ชมที่อยู่ต่างจังหวัดก็ได้มีโอกาสได้ชมด้วย โดย สสวท. ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำเอาภาพยนตร์ส่วนหนึ่งจากสถานทูตฝรั่งเศสไปฉายที่มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดด้วย
ผู้อำนวยการ สสวท. ได้ให้ความคิดเห็นว่าสำหรับการจัดทำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยนั้น ถ้าจะให้คนในสังคมเข้าใจได้ดี และนึกภาพออกได้ทันที ต้องเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ถ่ายทำจากสภาพแวดล้อม หรือสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมของประเทศนั้น ๆ จะทำให้คนที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ เช่น ชื่อสถานที่ ชื่อจังหวัด ชื่อต้นไม้ ชื่อแม่น้ำ ก็จะทำให้ประชาชนดูแล้วนึกออกทันที เปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่มีอยู่ในภาพยนตร์กับของจริงได้ง่าย ก็จะช่วยเสริมได้ แต่ต้องยอมรับว่า เทคนิคการถ่ายทำ ต้องอาศัยช่วงจังหวะเวลา และสิ่งสำคัญคือความเข้าใจที่จะอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ในสังคมไทยมีเรื่องราวเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ที่จะเข้าใจก็มีจำนวนน้อย ส่วนเทคนิคการถ่ายทำออกมาเป็นสื่อที่น่าสนใจก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะการถ่ายทำหนังวิทยาศาสตร์แตกต่างจากการถ่ายทำภาพยนตร์ทั่วไปคือไม่สามารถจัดฉากได้
“มีเรื่องราวที่จะถ่ายทำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยได้มาก ทำอย่างไรที่จะสามารถ หยิบประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมาแล้วทำมาเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ให้ได้ ซึ่งถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ ผมว่าจะเกิดคุณค่าแก่ผู้ดูนอกจากจะได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แล้วยังได้รู้จักและเข้าใจประเทศของตัวเองมากขึ้น” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว
ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนจะทราบว่าในฤดูหนาวจะมีเทศกาลกินปลาทูที่แม่กลอง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งช่วงนั้นปลาทูแม่กลองจะอร่อย ถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมฤดูกาลอื่นไม่อร่อย เรื่องนี้สามารถอธิบายเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ได้ เพราะว่าก่อนฤดูหนาวคือฤดูฝน ช่วงฤดูฝนแม่น้ำที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ จะชะล้างเอาอาหารตามมาลงอ่าวไทยด้วย สัตว์ตัวเล็ก ๆ มดปลวก ก็จะไหลตามมา ปลาทูก็จะว่ายเข้ามากินอาหารในอ่าวไทย
เมื่อถึงฤดูหนาว ปลาทูที่กินอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์แล้วก็จะอ้วนในช่วงหน้าหนาว มาอ่าวไทยตอนบนก็จะค่อนข้างปิด นำทะเลจะวนอยู่แถวอ่าวไทย ไม่ค่อยออกไปข้างนอก ปลาทูก็จะมีโอกาสวางไข่อยู่แถวในอ่าวไทย แต่ถ้าเป็นอ่าวไทยตอนล่าง เช่น แถวจังหวัดประจวบ ฯ น้ำที่อุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำมีโอกาสไหลออกนอกอ่าวไทย ตัวอย่างเช่นนี้ถ้านำมาถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ก็จะน่าสนใจ
ปีนี้มีภาพยนตร์เข้าร่วมเทศกาลถึง 57 เรื่อง ทั้งจากประเทศไทย เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม เช่น เรื่อง ไบโอนิค วิทยาการธรรมชาติ: โลกแห่งวัสดุ น้ำท่วมกับการปรับตัวของชีวิต โลเว่นซาน ตอน วิทยาการธรรมชาติไบโอนิค สารคดีเก้าครึ่ง ตอนน้ำ นิวตันกับเกอเธ่ - ความขัดแย้งทาง ทฤษฎีแสงและสี ชมรมไทเกอร์ดั๊ก: การเดินทางบนภูเขาสวิส สิทธิ์ในการมีชีวิต - ยาสำหรับผู้ป่วยเอดส์ นับล้าน และภาพยนตร์จากประเทศไทยเรื่องแม่น้ำเจ้าพระยา
เทศกาล ฯ ในปีนี้ ชูประเด็นหลักเรื่อง “ไบโอนิค เรียนรู้จากธรรมชาติ” ไบโอนิคเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ ที่ค่อนข้างใหม่ ชื่อของมันเกิดจากการผสมคำระหว่าง Biology (ชีววิทยา) และ Technic (เทคนิค) เป็นการนำ การคิดค้นของธรรมชาติที่มีพัฒนาการมากว่าหลายล้านปี ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการนำหลักการไบโอนิคมาใช้แก้ปัญหาในศาสตร์ทุกสาขา โดยมีหลายสาขาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
ติดตามข่าวคราวได้จากเว็บไซต์ของ สสวท. http://sciencefilm.ipst.ac.th หรือเว็บไซต์สถาบันเกอเธ่ http://www.goethe.de/ins/th/prj/wif/rah/thindex.htm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ