บริษัทไทยคาดภาพรวมการค้าสดใสและความต้องการสินเชื่อการค้าต่างประเทศขยายตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 26, 2018 11:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี ผลสำรวจล่าสุดของเอชเอสบีซี เผยไทยติด 1 ใน 3 ตลาดแรกที่มองภาพรวมการค้าเชิงบวกที่สุด อุปสงค์ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่ผลักดันให้การค้าขยายตัว ความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยท้าทายที่สุดในการเข้าถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศ รายงานผลสำรวจล่าสุดเรื่อง 'Navigator: Now, next and how for business' ของธนาคารเอชเอสบีซี ระบุว่า ธุรกิจในประเทศไทยมีมุมมองเชิงบวกอย่างมากต่อโอกาสการขยายตัวของการค้าในอนาคต และคาดว่าความต้องการสินเชื่อธุรกิจเพื่อการค้าต่างประเทศ รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อการค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยที่ธุรกิจไทยมีความกังวลมากที่สุดในการเข้าถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศ ผลการสำรวจบริษัทไทย 200 แห่ง พบว่า ธุรกิจในไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 92) มีมุมมองเชิงบวกต่อโอกาสการขยายตัวของธุรกิจระหว่างประเทศ และคาดว่าปริมาณการค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดทั่วโลก (ร้อยละ 77) โดยในบรรดาตลาดที่ทำการสำรวจทั้งหมด ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 3 ตลาดแรกที่มีมุมมองเชิงบวกที่สุดต่อภาพรวมการค้าระหว่างประเทศ รองจากบังคลาเทศและอินเดีย การที่ธุรกิจไทยมีความเชื่อมั่นต่อโอกาสการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ผู้บริโภค (ร้อยละ 33) สภาพเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย (ร้อยละ 31) และแรงงานฝีมือที่สามารถหาได้ (ร้อยละ 25) ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวของการค้า ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย (ร้อยละ 39) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 25) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 16) โดยบริษัทไทยยังคงมุ่งหวังที่จะพัฒนาโอกาสทางการค้ากับคู่ค้าญี่ปุ่นและจีน แต่ก็ให้ความสนใจที่จะขยายโอกาสทางการค้ากับเมียนมาและสิงคโปร์เพิ่มขึ้น ผลการสำรวจยังพบว่า กว่า 3 ใน 4 ของธุรกิจไทย (ร้อยละ 86) คาดว่าความต้องการสินเชื่อธุรกิจเพื่อการค้าต่างประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 88) คาดว่าการเข้าถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการค้าที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยมองว่าความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน (ร้อยละ 34) เป็นปัจจัยท้าทายที่สุดในการเข้าถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศ ขณะที่มองว่าต้นทุนธุรกรรมที่สูง (ร้อยละ 24) เป็นปัจจัยท้าทายที่ส่งผลรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบรรดาตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 37 ส่วนผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ พบว่า นโยบายที่กำหนดออกมาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นขึ้น อาทิ นโยบาย Belt and Road Initiatives ของจีน และกลยุทธ์ ASEAN 2025 ธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่ ระบุว่านโยบายเหล่านี้ส่งผลบวกต่อธุรกิจระหว่างประเทศ และมองว่าข้อตกลงการค้าเสรี ASEAN และข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียใต้ (SAFTA) จะช่วยส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศอีกด้วย นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า "เรามองภาพรวมการค้ามีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ และบริษัทไทยจะได้ประโยชน์ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศจากการที่อุปสงค์ผู้บริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น และสภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ในฐานะธนาคารชั้นนำด้านการค้าระหว่างประเทศ เอชเอสบีซีมีความพร้อมและศักยภาพอย่างเต็มที่ที่จะมอบบริการสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจการค้า (Supply Chain Financing) และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่างประเทศแก่ลูกค้า" การสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นโดยบริษัท Kantar TNS ในนามของธนาคารเอชเอสบีซี โดยได้รวบรวมผลสำรวจจากการตอบกลับของผู้มีอำนาจตัดสินใจกว่า 6,000 คนในบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ทั่วทุกภาคอุตสาหกรรมใน 26 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย และการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจซึ่งจัดทำโดย Oxford Economics ในนามของธนาคารเอชเอสบีซี ได้สนับสนุนความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2561 มูลค่าการค้าทั่วโลกจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7 (ภาคสินค้าและบริการรวมกัน) HSBC Navigator: Now, next and how for business HSBC Navigator เป็นรายงานที่นำเสนอข้อมูลการค้าและความเชื่อมั่นทางธุรกิจทั่วโลกที่รอบด้านและครอบคลุมที่สุด ซึ่งรวมเอาการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของการค้าแบบทวิภาคีระยะกลางถึงระยะยาวสำหรับธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการใน 25 ประเทศ (โดย Oxford Economics) และการสำรวจบรรยากาศการทำธุรกิจและความคาดหวังต่อกิจกรรมทางการค้าและการเติบโตของธุรกิจทั่วโลกใน 26 ประเทศ (โดย Kantar TNS) เข้าไว้ด้วยกัน รายงานหัวข้อ Navigator ของเอชเอสบีซี เอื้อให้ธุรกิจได้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ และช่วยให้ธุรกิจมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในอนาคต ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี กว่า 150 ปีแล้วที่เอชเอสบีซีได้ดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโต และเชื่อมโยงให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ ปัจจุบัน ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจของธนาคารเอชเอสบีซี ให้บริการลูกค้าราว 1.7 ล้านคนใน 54 ประเทศ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กที่มุ่งเติบโตในประเทศเป็นหลักไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินกิจการข้ามประเทศ เอชเอสบีซีพร้อมมอบเครื่องมือทางการเงินและความชำนาญไม่ว่าจะเป็นเงินทุนหมุนเวียน เงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา สินเชื่อเพื่อการค้า หรือบริการจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่อง ซึ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตของธุรกิจ ทั้งนี้ จุดแข็งสำคัญที่สุดของกลุ่มเอชเอสบีซี นั่นคือ เราพร้อมช่วยเหลือลูกค้าให้เข้าถึงโอกาสทางธุรกิจผ่านเครือข่ายสาขาทั่วโลกที่ครอบคลุมเกือบร้อยละ 90 ของกระแสการค้าและเงินทุนของโลก ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hsbc.com/about-hsbc/structure-and-network/commercial-banking เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มเอชเอสบีซี มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กลุ่มเอชเอสบีซีให้บริการลูกค้าทั่วโลกด้วยเครือข่ายสาขาประมาณ 3,900 แห่งใน 67 ประเทศและเขตปกครองทั้งในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เอชเอสบีซี เป็นสถาบันผู้ให้บริการด้านการเงินและการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีสินทรัพย์รวม 2,522 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ