“ศศินทร์”ผนึก “MIT”ร่วมผลักดันสตาร์ทอัพไทย สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จัดการสัมมนาเพื่อผู้ประกอบการ“MIT Global Startup Workshop 2018”

ข่าวทั่วไป Monday March 26, 2018 17:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--โฟร์ฮันเดรท สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ร่วมมือกับ สมาคมนิสิตเก่า เอ็มไอที ประเทศไทย และ Massachusetts Institute of Technology Global Startup Workshop (MITGSW) ร่วมจัดงาน "MIT Global Startup Workshop 2018" หวังยกระดับธุรกิจสตาร์ทอัพไทย และให้ความรู้ผู้สนใจประกอบธุรกิจ ติดอาวุธไอเดียให้พร้อมรับยุคไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเปิดเวทีให้นักศึกษาประลองความคิดผ่านแผนธุรกิจสุดล้ำ ชิงเงินรางวัลสูงสุดกว่า 15,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า "โครงการนี้เป็นความร่วมมือของศศินทร์กับ Massachusetts Institute of Technology Global Startup Workshop และสมาคมนิสิตเก่า เอ็มไอที แห่งประเทศไทย จัดขึ้นโดยเรามีเป้าหมายที่จะให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือผู้สนใจที่ต้องการจะปรับตัวเองให้เท่าทันเศรษฐกิจในยุคนวัตกรรม ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ให้ได้รับความรู้ และไอเดียใหม่ ๆ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ หรือไปสร้างธุรกิจใหม่ให้ประสบความสำเร็จ" "MIT Global Startup Workshop 2018" ถือเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของ "Massachusetts Institute of Technology Global Startup Workshop (MITGSW)" ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 'MIT Global Startup Workshop' เป็นกิจกรรมการให้ความรู้ และแนวคิดทางด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2540 และได้เริ่มจัดเป็นกิจกรรมการสัมมนาหมุนเวียนไปยังเมืองต่างๆ ตั้งแต่ปี 2549 ที่เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และในปีนี้ได้มาจัดที่ประเทศไทย เพื่อให้องค์ความรู้ใหม่ๆ ในการประกอบธุรกิจแก่นักธุรกิจ ผู้สนใจ รวมถึงนิสิต นักศึกษา ผ่านผู้ทรงคุณวุฒิ และประสบการณ์จากนักธุรกิจชั้นนำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศ อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศระดับโลกในอนาคต Mr. L. Rafael Reif ผู้อำนวยการ Massachusetts Institute of Technology Global Startup Workshop (MIT GSW) ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "ในฐานะตัวแทนของโครงการรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "MIT Global Startup Workshop 2018" อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากศศินทร์ และสมาคมนิสิตเก่า เอ็มไอที ประเทศไทย ทางผู้จัดงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะได้มอบองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพในยุคใหม่ และพื้นที่ตรงนี้ยังจะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน แบ่งปัน ความรู้ใหม่ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี" สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ"MIT Global Startup Workshop 2018" กำหนดจัดขึ้นสามวันในวันที่ 26-28 มีนาคม 2561 โดยกำหนดการจะแบ่งออกเป็นสองช่วงใหญ่ได้แก่ วันที่ 26 และ 27 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชัน เซนเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จะเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโดยผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันการศึกษาชั้นนำ และผู้ประกอบธุรกิจยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จกับโมเดลธุรกิจยุคใหม่ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ แนวคิด และกลยุทธ์ที่จำเป็นสำหรับการนำไปต่อยอดธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่วนช่วงที่สอง ในวันที่ 28 มีนาคม 2561 ณ ศศินทร์ ก็คือการประกวดแผนธุรกิจนานาชาติโดยบรรดานิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ที่จะนำโมเดลธุรกิจใหม่ๆที่น่าสนใจมาร่วมการแข่งขัน โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 15,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ "ในฐานะผู้ร่วมจัดงานถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดเวทีทางวิชาการด้านธุรกิจที่สำคัญครั้งหนึ่งในประเทศไทย และเรามีความมั่นใจว่าผู้ที่ได้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะได้รับความรู้เพื่อนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจ รวมถึงมุมมอง และแนวคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับธุรกิจให้เป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศ และในระดับสากลอย่างแน่นอน" นายจรัมพร โชติกเสถียร ประธานสมาคมนิสิตเก่า เอ็มไอที ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย สรุปกิจกรรม การจัดงาน MIT GSW 2018 ประกอบด้วย: - 60+ วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก - 10 หัวข้อเสวนา (FinTech, UrbanTech, E-Commerce, และอื่นๆอีกมากมาย…) - 10 หัวข้อการประชุมเชิงปฎิบัติการ (Ideation, Networking, Prototyping, and more…) - 7 คำปราศรัยสำคัญ - 3 การแข่งขันแผนธุรกิจ - 3 วัน กิจกรรมสัมมนา อาหารกลางวัน อาหารว่าง และงานเลี้ยงรับรอง - 100+ เครือข่าย - ...และไอเดียความคิดสร้างสรรอีกนับไม่ถ้วน
แท็ก นิสิต   ไอที   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ