“ยุทธศาสตร์ปืนลูกซอง” ปลุกวิถีวัฒนธรรม “เมืองปาย” เพื่อชุมชนเข้มแข็ง

ข่าวท่องเที่ยว Friday November 9, 2007 16:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สกว.
พบ “ท่องเที่ยวปาย” เติบโตแบบไร้ทิศทาง ส่งผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมเยาวชนติดยาเสพติดและขายบริการทางเพศมากขึ้น โดยเฉพาะทัศนคติของคนในอำเภอหันมานิยมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแทนการพึ่งพาตนเองนักวิจัย สกว.หนุนชุมชนรอบนอกตัวอำเภอพัฒนาระบบผลิตทางการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่อย่างเพียงพอ หลังสำรวจพบว่าขาดแคลนถึงขั้นต้องสั่งซื้อผัก-ผลไม้จากเชียงใหม่ไปบริโภค
ผศ.ดร.สาวิตร มีจุ้ย หัวหน้าโครงการวิจัยนำร่องระยะสั้นสำหรับพื้นที่สีเขียวใน อ.ปาย : การพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตรยั่งยืนของอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ วิชาการและกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เปิดเผยว่า โครงการนี้ ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่เป้าหมาย 14 หมู่บ้าน ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกตำบลของอ.ปาย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาระบบการเกษตรของหมู่บ้านนั้นๆ ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารเกษตรของ อ.ปาย รวมถึงเป็นแห่งผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน และผลิตภัณฑ์เกษตรในธุรกิจท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ทำการเกษตรของ อ.ปาย ถูกปรับเปลี่ยนเป็นรีสอร์ท และเกสต์เฮ้าส์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะทัศนคติของคนในอำเภอหันมานิยมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแทนการพึ่งพาตนเอง ขณะที่การท่องเที่ยวก็เติบโตแบบไร้ทิศทาง ส่งผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรม เยาวชนติดยาเสพติดและขายบริการทางเพศมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อสำรวจทัศนคติของคนรอบนอก กลับแตกต่างจากคนในตัวอำเภออย่างสิ้นเชิง แม้กระทั่งรีสอร์ท ก็เน้นขายความสวยงามของสิ่งแวดล้อม ความสงบ มีกลิ่นไอของวิถีชีวิตชุมชนให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่เน้นรายได้เป็นหลักเหมือนในเมือง การวิจัยครั้งนี้จึงเน้นพื้นที่เป้าหมายในเขตหมู่บ้านรอบนอกของอำเภอปาย เพื่อให้ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในเมืองปายและรักษาพื้นที่เกษตรไว้ได้อย่างยั่งยืน “ทุกวันนี้คนเมืองปายกินผักผลไม้จากเชียงใหม่ และไม่เชื่อในศักยภาพด้านการเกษตร ว่าจะเลี้ยงตัวเองได้ จึงขายที่นาจนไม่มีพื้นที่เลี้ยงวัวควาย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องเข้ามาช่วยกันหาทางออกอย่างจริงจัง เช่น หมู่บ้านปกาเกอะญอที่มีการทอผ้าอยู่แล้ว แต่ขาดความรู้ด้านเทคนิคการออกแบบลายผ้า และการเพิ่มมูลค่าสินค้า หน่วยงานที่ดูแลควรยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ มีการจัดอบรมและมีที่ปรึกษาให้ชาวบ้าน หรือบางหมู่บ้านปลูกข้าว แต่ไม่มีเมล็ดพันธุ์ของตัวเองก็ต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านสามารถคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เองได้ โดยดึงศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนเข้ามาร่วม ส่วนทีมวิจัยเป็นเพียงผู้ประสานงาน หรือพี่เลี้ยง คอยให้คำแนะนำ และเก็บข้อมูลเชิงรุก
โดยมีเป้าหมายจะนำข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย” ผศ.ดร.สาวิตร กล่าวต่อว่า การทำงานในแต่ละพื้นที่จะเน้นกระตุ้นหลายๆ กิจกรรมพร้อมกัน โดยอาจมีงานวิจัยหลายโครงการเกี่ยวโยงกันอยู่ ภายใต้เครือข่ายวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค ซึ่งเราเรียกวิธีการเหล่านี้ว่า “ยุทธศาสตร์ปืนลูกซอง” คือยิงทีละ 10-20 ลูก พร้อมๆ กันเข้าไปในเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และพัฒนางานอาชีพของตนเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร ผ้าทอมือ หรือท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น ด้าน รศ.ดร.ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา ผู้ประสานงานสำนักประสานงานเครือข่ายวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (Area Based Cooperative Research Programme Upper Northern Region = ABC-UN) กล่าวว่า จากการติดตามการทำงานของเครือข่าย ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะยึดหลัก 2 ประการการ คือเน้นให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ จนเป็นชุมชนที่เข้มแข็งภายใต้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับพยายามขับเคลื่อนกลไกของรัฐที่อยู่ในท้องถิ่นให้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาสังคมเป็นไปอย่างมีทิศทาง และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน แต่ขณะนี้เริ่มที่แม่ฮ่องสอนก่อน และในปี 2551 ก็จะขยายไปที่ จ.น่าน ซึ่งสภาพปัญหาหลักที่พบเบื้องต้น มี 3 อย่าง ได้แก่ ชาวบ้านรุกพื้นที่ป่าปลูกข้าวโพดกันมาก และมีปัญหาต่อเนื่องด้านสารเคมีตามมา นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวน้อย ทั้งที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และสิ่งดึงดูดหลายอย่าง ขณะเดียวกันก็มีปัญหาด้านความยากจน ประชาชนมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน “สำหรับจังหวัดอื่นๆ หากทุกภาคส่วน ทั้งราชการ เอกชนในพื้นที่ และเกษตรกร หรือชาวบ้าน มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ทางเครือข่ายก็พร้อมจะเข้าไปดำเนินการทันที” รศ.ดร.ศักดิ์ดา กล่าว.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.0-2270-1350 — 4 ต่อ 0

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ