รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2550

ข่าวทั่วไป Thursday September 27, 2007 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2550 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2550 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับสูงอีกครั้ง หลังจากที่ชะลอตัวในเดือนก่อนนอกจากนี้ ภาคการคลังยังคงมีบทบาทต่อเนื่องในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในช่วงที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนสิงหาคม 2550 แสดงถึงบทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยรายจ่ายงบประมาณในเดือนสิงหาคมสามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้น 122.8 พันล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.4 ต่อปี โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ 101.3 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุน 17.3 พันล้านบาท และรายจ่ายเหลื่อมปี 4.2 พันล้านบาท สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในเดือนสิงหาคม 2550 จัดเก็บได้รวม 210.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี โดยภาษีจากฐานรายได้ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบครึ่งปีที่ชำระในเดือนสิงหาคม 2550 ขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจชะลอลงในครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ภาษีที่จัดเก็บ จากฐานการบริโภคปรับตัวดีขึ้นตามการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี
2. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2550 ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (ณ ราคาคงที่) ในเดือนสิงหาคม 2550 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.0 ต่อปี สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี เช่นเดียวกับเครื่องชี้การบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้น โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนสิงหาคมกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่สองที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคมยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -23.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -19.7 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนสิงหาคม 2550 ยังคงปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 69.5 จุด โดยผู้บริโภคยังมีความกังวลจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Sub Prime) ของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคต
3. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2550 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนสิงหาคม ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.1 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -3.3 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในเครื่องจักรกลและเครื่องจักรอุตสาหกรรมเป็นหลัก ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี จากร้อยละ -0.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนด้านการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น โดยภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี
4. ภาคการส่งออกกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกในเดือนสิงหาคมมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 13.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.9 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวดีขึ้นในทุกหมวดสินค้า เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 กลุ่มอิเลคทรอนิคส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 และกลุ่มยานพาหนะและส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนสิงหาคม 2550 ขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยมูลค่าการนำเข้าในเดือนสิงหาคมรวมทั้งสิ้น 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 14.0 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า เช่น วัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 สินค้าทุนและเครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 และสินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 สำหรับดุลการค้าในเดือนสิงหาคมยังคงเกินดุล 770.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานพบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 2550 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.3 ต่อปีจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี เนื่องจากผลผลิตหลัก เช่น ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมันขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี โดยราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นมาก ได้แก่ ราคามันสำปะหลัง ที่ขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์ของน้ำมันชีวภาพ (Bio-fuel) ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 9.7 ต่อปี ขยายตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.2 ต่อปี ในด้านเครื่องชี้ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนสิงหาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี จากที่เคยหดตัวติดต่อกันใน 3 เดือนก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มปรับตัวดีขึ้น
6. เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี ปรับต่อลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคมยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือนกรกฎาคม 2550 อยู่ที่ร้อยละ 37.7 ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ร้อยละ 50.0 ค่อนข้างมาก สำหรับเครื่องชี้เสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 74.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นค่อนข้างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ