หากคุณต้องเลือก ระหว่างแวดล้อมด้วย “วิญญาณที่ไร้ร่าง” กับ “ร่างที่ไร้วิญญาณ” คุณจะเลือกแบบไหน? ใน วิญญาณโลกคนตาย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 26, 2007 13:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สหมงคลฟิล์ม
หากคุณต้องเลือก ระหว่างแวดล้อมด้วย “วิญญาณที่ไร้ร่าง” กับ “ร่างที่ไร้วิญญาณ” คุณจะเลือกแบบไหน?
วิญญาณโลกคนตาย
8 พฤศจิกายน 2550
เตรียมรับสัมผัสการอยู่ร่วมกับคนตาย
วิญญาณโลกคนตาย
(The Spiritual World)
กำหนดฉาย 8 พฤศจิกายน 2550
แนวภาพยนตร์ ผี-ระทึกขวัญ
บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินงานสร้าง มีโมชั่น
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมการผลิต ยอด สุขวิวัฒน์
ดำเนินงานสร้าง นารีรัตน์ อภิปุญญา
กำกับภาพยนตร์ ธราเทพ ทิวสมบุญ
บทภาพยนตร์ ดนัย อัมพรดนัย, ธราเทพ ทิวสมบุญ
กำกับภาพ กฤตยา สนธิสวัสดิ์
ออกแบบงานสร้าง ศราวุธ ปาปะไกร
กำกับศิลป์ ทรงอาจ บุญทรง
ออกแบบเครื่องแต่งกาย มุทิตา จิตตินันทน์
แต่งหน้า-ทำผม เสาวนี หินอ่อน
เมคอัพเอฟเฟ็คต์ วิทยา ดีรัตน์ตระกูล, นพพร พลอยบ้านแพ้ว
ลำดับภาพ อังคาร เพชรสังข์, บริษัท อาร์ เฮีย จำกัด
ออกแบบเสียง ธราเทพ ทิวสมบุญ, วชิระ วงศาโรจน์
ดนตรีประกอบ ธิติพันธ์ จงเจริญโชคสกุล
เพลงประกอบภาพยนตร์ "ริค” วชิรปิลันธิ์ โชคเจริญรัตน์
เทคนิคพิเศษ บริษัท โอเรียนทัล โพสต์ จำกัด
ฟิล์มแล็บ-ห้องเสียง บริษัท กันตนา แลบบอราทอรี่ส์ จำกัด
นำแสดง อนุชิต สพันธุ์พงษ์, ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ
เปิดโลกแห่งวิญญาณ
ท่ามกลางผู้คนมากมาย
เธอ...เหมือนอยู่ลำพังกับความทรงจำที่ไม่ต้องการ
เขา...เหมือนอยู่เดียวดายกับความลับที่รอวันไขขาน
เธอ...สื่อสารได้กับวิญญาณที่อยู่รอบกาย
เขา...มิอาจทำลายเสียงหลอนที่แว่วเข้าหู
เธอและเขา...เหมือนอยู่ระหว่าง “โลกคนเป็น” และ “โลกคนตาย”
เธอและเขา...ต้องร่วมคลี่คลายอดีตอันน่าสะพรึงของกันและกัน
มิ้ง (ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ) หญิงสาววัยยี่สิบปี ที่ทุกข์ทรมานกับการมองเห็นในแบบที่หลายคนไม่เคยรับรู้ เธอมองเห็นโลกแห่งความตายและวิญญาณไร้ร่างที่ยังไม่ไปผุดไปเกิด เธอจะเห็นวิญญาณในทุก ๆ ที่ที่เธอไป และในทุก ๆ เวลาตราบที่เธอยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเธอมอง เธอจะเห็นมัน และเมื่อเธอหลับตาลง เธอจะยิ่งเห็นพวกมันชัดเจนขึ้นในความมืด
ตลอดสิบห้าปีที่เธอเห็นผี มิ้งจะต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเธอต้องไปอาศัยอยู่ตามบ้านที่มีคนฆ่าตัวตาย...บ้านผีตายโหง แม้ว่ามันจะน่ากลัวสำหรับคนที่มองเห็นผีได้อย่างเธอ แต่มิ้งก็รับรู้ว่ามันปลอดภัยมากกว่าสำหรับคนที่กำลังหนีบางสิ่งที่สยดสยองกว่านั้น
วิญญาณในบ้านผีสิงเท่านั้นที่จะสามารถคุ้มครองเธอได้
จนกระทั่งเธอได้พบกับ บัติ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) หมอผ่าศพวัยยี่สิบห้าปี ผู้มีเพื่อนเป็นเหล่าร่างไร้วิญญาณในห้องดับจิต บัติมาหามิ้งด้วยความเชื่อว่า มิ้งจะสามารถไขอดีตความลับการตายของพ่อของเขาได้ว่า พ่อของเขาตายจากการฆ่าตัวตาย หรือว่ามันเป็นความตายจากการฆาตกรรมกันแน่
การเข้ามาในชีวิตมิ้งของบัติ ทำให้เธอต้องรื้อฟื้นเหตุการณ์ระทึกขวัญในอดีต ซึ่งทำให้เธอต้องค้นพบความจริงอันน่าสะพรึงกลัวกว่าสิ่งใด ๆ ที่เธอกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
วิญญาณจะกล้ำกราย คนตายจะล้อมคุณ
สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” และ “มีโมชั่น” ขอปลุกความสยองขวัญ ต้อนรับคุณสู่อีกโลกที่คุณยังไม่เคยสัมผัส โลกที่ทุกสิ่งที่คุณเห็น จะหลอกหลอนคุณจนไม่กลัวตาย แต่กลับขยาดที่จะมีลมหายใจอยู่
วิญญาณโลกคนตาย” ผลงานการกำกับเรื่องแรกของผู้กำกับหน้าใหม่ “ธราเทพ ทิวสมบุญ” ที่จะนำคุณสู่โลกที่ “คนเป็น” ไม่อยากเข้า “คนตาย” ไม่อยากอยู่ โลกที่หนีไม่พ้นวิญญาณ ที่เวียนว่ายในวังวนแห่งความหลอกหลอนทั้งยามตื่นและหลับใหล
“ก่อนอื่นเลยผมรีเสิร์ชมาก่อนเลยว่าจะทำหนังผี โจทย์คืออยากได้หนังผี จะทำอย่างไรดี จริง ๆ แล้วคือผีเนี่ยมันคือสิ่งเค้าพูดกันมา แล้วแต่คนจะคิดไปว่ามีจริงหรือเปล่า ถ้าคนกลัวผีมันอาจจะถูก แต่เรื่องจริงเนี่ยผีมันกลัวคน แต่สังเกตว่าคนที่ถูกผีหลอกเนี่ย จะไม่มีแบบว่าร้อยคนอยู่ด้วยกันแล้วผีหลอก ไม่มี ส่วนมากจะอยู่คนเดียว แต่จริง ๆ แล้วผีจะกลัวเรามากเลยนะ เออ ถ้าเราอยู่คนเดียวเมื่อไหร่ เออนั่นแหละคุณก็อาจจะเจอมันได้ แต่จริง ๆ แล้วเนี่ยความโดนของมันในหนังเรื่องนี้ มันจะบอกคุณว่าสิ่งที่คุณมองเห็นผี สิ่งที่คุณสัมผัสกับผี หรือโดนผีหลอกเนี่ย มันจะมาในความรู้สึกในแบบที่คุณไม่เคยรู้สึกมาก่อนก็เป็นได้
ส่วนเรื่องราวจริง ๆ ผมจะเป็นคนคิดขึ้นมาก่อนว่าเราจะเล่นทางนี้นะ ความรู้สึกตรงนี้นะ ที่คนอื่นเค้าไม่ค่อยเล่นกัน คือ ส่วนใหญ่คนเราจะเป็นกัน เฮ้ย...ต้องมีผีตรงนี้ ๆ นะ ตรงที่อย่างนี้ต้องมีผีมาหลอกอย่างนี้ ๆ นะ โอเค ผมคิดว่าคงมีคนคิดอย่างนี้กันเยอะแล้ว ผมก็เลยลองทำอะไรที่มันต่างจากคนอื่นดูบ้างกับหนังเรื่องนี้ที่จะเน้นเรื่องความรู้สึกมากกว่าครับ ความรู้สึกที่คุณไม่เคยได้สัมผัสจากเรื่องอื่นมาก่อน”
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้มีที่มาที่ไปจากการระดมไอเดียของผู้กำกับ “อ้น-ธราเทพ ทิวสมบุญ” และทีมงานหลัก (โปรดิวเซอร์, ผู้เขียนบท) ที่ต้องการจะสร้างภาพยนตร์ผีระทึกขวัญที่แปลกและแตกต่างไปจากภาพยนตร์ไทยแนว ๆ เดียวกันที่เคยมีมาก่อนหน้านี้
“แตกต่างที่สุดก็คือเรื่องความรู้สึกครับ ผมอยากจะขายความรู้สึกกล้า ๆ กลัว ๆ เหมือนกับเราเข้าไปยังบ้านผีสิง บ้านผีเฮี้ยนทั้งหลาย ผมต้องการนำคนดูไปยังโลกในหนังของผม โลกแห่งความหลอน โลกแห่งความตาย ก็เลยใช้ชื่อเรื่องว่า วิญญาณโลกคนตาย คือ เราไม่ได้บอกคนดูว่า หนังเรื่องนี้เรียลิตี้นะ แต่ผมจะพาคนดูเข้าไปในโลกของ
ตัวละครในเรื่อง โลกในความรู้สึกของเค้า แล้วให้คุณร่วมไปค้นหาความรู้สึกนั้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น บางความรู้สึกมันเป็นการเห็นผีในลักษณะที่คุณอาจจะไม่เคยเจอ หรืออาจจะเคยเจอมาแล้วก็ได้ การเห็นผีมันเกิดขึ้นได้จากความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง เรื่องนี้ผมจะทำให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมาครับ
โดยตัวเนื้อเรื่องผมก็จะเน้นที่ตัวละครหลักสองคน คนหนึ่งต้องอยู่กับ ‘วิญญาณที่ไร้ร่าง’ ส่วนอีกคนก็จะอยู่กับ ‘ร่างที่ไร้วิญญาณ’ คือมันค่อนข้างมีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด แต่แล้ววันหนึ่งทั้งคู่กลับต้องมาเผชิญหน้ากัน มาร่วมรับรู้ความรู้สึกของแต่ละฝ่าย และร่วมไขความลับในอดีตที่ตามหลอกหลอนมาทั้งชีวิตด้วยกัน
ตัวละครทั้งคู่จะเปิดเผยให้เห็นว่าโลกของคนตายไม่ใช่สิ่งลี้ลับ เพราะทุกคนสามารถติดต่อหรือสัมผัสกับมันได้ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือว่าเป็นผม เรื่องนี้มันเกิดขึ้นจากผู้ชายคนหนึ่งกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าไปอยู่กับโลกของคนตาย ตัวผู้หญิงถูกบรรยากาศความรู้สึกของสิ่งที่เค้าเจอมาตามหลอกหลอน ส่วนผู้ชายก็พยายามจะหนีความหลอนตรงนั้น คือเค้ามีความรู้สึกตรงนั้นอยู่แล้ว แต่เค้าต้องการหาคำตอบกับความรู้สึกตรงนั้นให้หมดไป”
เมื่อเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัวถูกพัฒนาจนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว ขั้นตอนหลักที่ความหลอนจะถูกส่งตรงไปสู่ผู้ชมได้ก็อยู่ที่ “การคัดเลือกนักแสดง” ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับภาพยนตร์แล้ว ก็ยังจะต้องแบกรับการแสดงที่จะต้องทำให้ผู้ชมเชื่อและรู้สึกถูกตรึงไปกับทุกสัมผัสในโลกของคนตายที่ถูกรวมเข้ากับโลกของคนเป็นตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่นาทีแรกที่ความสว่างในโรงภาพยนตร์ถูกดับลง
“อย่างแรกเลยตอนที่ผมคิดถึงนักแสดงอย่างโอ (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ขึ้นมาเนี่ย คือผมดูผลงานเค้าจากเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 น่ะครับ ผมดูว่าเค้าเป็นคาแร็คเตอร์ที่ดูเป็นวัยรุ่นที่แบบว่ามีสมอง เค้าไม่ได้เป็นวัยรุ่นที่เละเทะ เค้าอยู่ของเค้าโดยให้ความรู้สึกว่าเนี่ย เด็กไทยน่าจะเป็นแบบนี้นะ ค้นหาตัวเอง ค้นหาเรื่องราว แล้วพอมาอีกเรื่องนึงคือ โหมโรง เนี่ย เค้าก็ยังเป็นแบบว่าชักจูงคนในลักษณะเป็น Idol ของเด็กไทยได้เลย ทำให้คนเรารักดนตรีไทยอะไรอย่างนี้ พอผมเห็น 2 เรื่องนี้แล้ว ผมก็เลยอยากเห็นด้านมืดของเค้าบ้าง การแสดงออกทางด้านด้านมืดของเค้า มันน่าจะมี แล้วถ้าเผื่อได้มาเล่นหนังของผมเนี่ย ซึ่งมันต้องแสดงออกทางด้านมืดเยอะ ผมว่ามันทำให้เค้าอยากแสดง มันเหมือนกับว่า เค้าใสสะอาดมาหมดแล้ว เค้าเก็บ ๆ อะไรไว้ เค้าจะได้มาทิ้งในหนังเรื่องนี้ได้เต็มที่ เพราะตัวละครของโอ มันต้องเป็นลักษณะจิต ๆ อย่างนั้นด้วย
คือ โอเนี่ยเค้าจะเล่นเป็น บัติ เป็นหมอผ่าศพ แต่ว่าจะไม่เหมือนหมอผ่าศพทั่วไป คือเค้าจะเป็นตัวเค้า ชีวิตเค้าเกิดมาอย่างนี้ แล้วเค้าเจอเรื่องอย่างนี้มา แล้วเค้าเก็บงำในเรื่องที่มันเกิดการตายขึ้นมา รอบข้างเค้านี่มีแต่ศพเต็มไปหมดเลย ศพนี้ก็ตาย ๆ ๆ แล้วก็มาหาให้เค้า ให้เค้าชันสูตรว่ามันตายเพราะอะไร เค้าคงหมกมุ่นในความรู้สึกที่ต้องหาคำตอบแบบนี้อยู่ตลอดเวลา ก็จะเกิดอาการทางจิตขึ้น แล้วก็จะพูดคุยกับศพอยู่ตลอดเวลา ก็คือแบบโอเนี่ย ผมก็จะดีไซน์คาแร็คเตอร์ของเค้าให้ต่างจากที่เคยแสดงในเรื่องอื่นไปเลย เปลี่ยนลุคไปเลยก็ว่าได้ ทั้งในด้านบุคลิกความเป็นหมอ หรือด้านบทบาทของตัวโอเองที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนด้วย
ส่วนน้องรัน (ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ) เนี่ย มันเป็นพรหมลิขิตของหนังนะ ผมบอกอย่างงั้นได้เลย ครั้งแรกที่แคสติ้งมาเนี่ย ผมบอกว่า โอ้โห เราจะหานักแสดงผู้หญิงคนนี้ยังไงดี มันยากมากจริง ๆ เพราะว่านักแสดงผู้หญิงทั่วไปเวลากลัวผี ตาก็จะถลน มันจะแบบว่าอื้อ...อ้า...กรี๊ดกร๊าดอะไรไป บางทีแบบว่ามันน่ารำคาญแล้ว มันไม่ได้อารมณ์แล้ว ก็เลยแบบว่าโจทย์คือ ต้องแคสติ้งนักแสดงที่แบบว่ารู้สึกกลัวผี แม้แต่เวลาเธอพูดในน้ำเสียงที่กลัว อารมณ์ที่เก็บอยู่ตลอดเวลา ทั้งความกลัวผีในชีวิตประจำวัน กลัวผีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันยากมาก ๆ ทีนี้พอมาเจอน้องรันเนี่ย ปรากฏว่าแสดงได้ดีมาก ใช่ตัวละครตัวนี้เลย และด้วยความที่ผมมองว่า รันกับโอเนี่ย ด้วยหน้าตาและรูปร่างเนี่ย เค้าจะค่อนข้างจะเข้ากันได้ดีด้วย ก็เลยเลือกน้องรันมาเล่น บวกกับความสามารถของเค้าทั้งคู่ ก็เลยหายห่วงได้
คาแร็คเตอร์ของรันเนี่ยก็จะแสดงเป็น มิ้ง เป็นคนที่เห็นผี สื่อสารกับวิญญาณได้ เป็นคนที่แบบว่าลอยอยู่ในโลกของเค้า โลกที่ต้องมองเห็นและสื่อสารกับวิญญาณอยู่ตลอดเวลา จะเลี่ยงก็ไม่ได้ ผมก็จะดีไซน์ให้เค้าเป็นนางเอกที่ค่อนข้างเก็บกด จะทำให้ไม่สวยเลย คือแบบว่านางเอกบ้านเราต้องสวยตลอดเวลาเลยใช่มั้ยครับ แต่กับรันเนี่ย ผมจะให้เค้าเมคอัพน้อยที่สุด จะไม่ให้แต่งหน้าจัด ๆ เลย แต่ไม่ว่าจะทำยังไงเค้าก็ยังสวยทุกมุม (หัวเราะ) ทุกมุมกล้องจริง ๆ ไม่ว่าผมจะกด จะเสย หรือว่าผมจะเปลี่ยนมุมกล้องยังไง หรือว่าไม่เมคอัพเลย ผมจะทาแค่ออยที่ตัวเค้าอะไรอย่างนี้ แต่เค้าก็ยังสวยอยู่ดี ไม่ใช่ผมมองว่าสวยคนเดียวนะ คือทีมงานทุกคนก็บอกอย่างนี้ ผมก็เลยปล่อยไปเลย เพราะทำยังไงก็สวยอยู่ดี ทำให้ไม่สวยไม่ได้เลย แต่อย่างที่บอก เรื่องการแสดงเนี่ยหายห่วงได้เลย รันจะทำให้คนดูเชื่อและหลอนตามเธอไปด้วยแน่ ๆ ครับ”
บรรยากาศอันน่าสะพรึง จะดึงดูดเสียงคนตายมาหายใจรดต้นคอ
“การออกแบบงานสร้างในหนังเรื่องนี้นะครับ ผมก็ลองคิดใหม่ให้ต่างจากที่เคยมีมา บรรยากาศไหนที่มันได้อารมณ์หลอน ๆ ที่แบบว่ามันไม่จงใจมาก ให้แค่หลอนในความรู้สึกที่แบบว่า คนเรามันไปสัมผัสบรรยากาศแบบนั้นแล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกหลอนตรงนั้นได้ โดยที่มันเป็นหลอนแบบเรียลิสติกน่ะครับ แต่ว่าสิ่งที่มันครอบอยู่เหมือนกับขังคุณไว้ในแบบที่มันไม่เหมือนจริง อันนี้มันก็เป็นรูปแบบในงานสร้างของผมนะครับ หลัก ๆ แล้วก็คือ อยากให้ตัวละครมันตามไปสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกของมันเอง ในการใช้ชีวิตของมันเอง อย่างห้องผ่าศพ ผมก็จะคิดโทนสีของห้อง อารมณ์ feeling รวมถึงกลิ่นของห้องเลยนะครับให้มันได้ความรู้สึกหลอนจริง ๆ ผมจะคิดมาเป็นอย่างนั้นมากกว่า จะไม่ใช่ว่าที่นี่มีผีดุนะ เข้าไปเลย เข้าไปแล้วก็ไปถ่ายเลย เดี๋ยวต้องเจอผีแน่ อะไรอย่างนี้ ก็คือการออกแบบงานสร้างจะเน้นความสมจริง และอารมณ์ความรู้สึกหลอน ๆ มากกว่าครับ อย่างที่ไปเซ็ทโลเกชั่นถ่ายกันหลัก ๆ ก็จะเป็นที่กาญจนบุรี ทั้งในส่วนของบ้านไม้, วัด หรือฉากป่าช้า เราก็เลือกไปถ่ายที่นี่ และก็มีการเซ็ทเพิ่มเติมบ้างแต่ไม่เยอะครับ เพราะผมจะเน้นความสมจริงให้ได้อารมณ์จริง ๆ มากกว่า”
การออกแบบงานสร้างในภาพยนตร์เรื่องนี้จะเน้นบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกอันน่าสะพรึงกลัวแบบสมจริง ซึ่งมันมาพร้อมกับไอเดียของผู้กำกับที่จะสร้างสรรค์ “เสียงวิญญาณ” หรือ “เสียงแห่งความตาย” ที่มันพร้อมจะตามหลอนคุณแบบหายใจรดต้นคอ แม้จะเดินออกจากโรงภาพยนตร์ไปแล้วก็ตาม
“หนังเรื่องนี้ โดยเรื่องหลักเป็นเรื่องของผี คือมันเป็นหนังผี ความสนุกของเรื่องคือมันจะกระตุ้นคนดูด้วยจังหวะ เหมือนวงดนตรีสักหนึ่งวงมาเล่นให้คุณฟังสด ๆ มันจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างไป คนดูหนังเรื่องนี้ต้องได้ความรู้สึกนั้น อันนี้ผมเน้นมาก ๆ เลย คนดูหนังเรื่องนี้จะต้องได้ความรู้สึกที่เกิดกับตัวละครนั้นแน่ ๆ ความรู้สึกของตัวละคร 2 คนเนี่ยค่อนข้างชัดมาก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในการกระทำของพวกเขาจะตามมาหลอนคุณแบบเสียวสันหลังได้เลย เพราะผมได้ดีไซน์เสียง การเคลื่อนไหวของเสียง การผสมเสียง การใช้ดนตรี การใช้ Sound Design ต่าง ๆ ทำให้มันมีอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติของโลกคนตาย ที่คุณจะได้ยินแล้วเหมือนมีใครมาหายใจรดต้นคอคุณเลยทีเดียว ซึ่งการ
ออกแบบเสียงอย่างนี้ มันเหมาะสำหรับหนังเรื่องนี้มาก เพราะมันให้ความรู้สึกหลอนได้เป็นอย่างดี ผมก็เลยมองว่าน่าจะทำแบบนี้ดีแล้ว แต่ทางด้านเนื้อหาของหนังเนี่ยมันก็เสริมกันอยู่นะ มันมีเรื่องราวที่เราต้องติดตาม มันเป็นหนังแบบคนที่ชอบความลึกลับ มันจะพาคุณไปท่องโลกของคนตายและสัมผัสความรู้สึกของตัวละคร 2 คนเหมือนคุณต้องเข้าไปสืบกับมันด้วย แต่เป็นการเข้าไปสืบแบบให้สัมผัสกับความรู้สึก สัมผัสกับรสชาติของความตายได้เลยครับ
คือเราดูบรรยากาศ เราดูความรู้สึก แล้วผมก็ใส่ความรู้สึกให้คุณไป ใส่ไปทั้งสองโลกเลยคือ โลกคนเป็น กับ โลกคนตาย ทั้งเรื่องเลย วิธีการมิกซ์เสียงเรื่องนี้จึงแตกต่างออกไป เพราะความตั้งใจแรกที่เซ็ตเรื่องขึ้นมาทั้งสองโลกประกอบกันจนแยกกันไม่ออก มันเคลื่อนที่ไปตามตัวละคร มันเปียก ชื้น และ แฉะ หม่นเหงาน่ากลัว ถ้าคุญหลับตาลงเพื่อดูเรื่องนี้ด้วยความรู้สึก คุณจะพบอะไรบางอย่าง มันเป็นความน่ากลัวที่รู้สึกได้จริง ๆ เสียงที่เกิดขึ้นในหนังทุก ๆ ฉาก ผมอยากทำให้การได้ยินของคนดูมีมิติมากกว่าเดิมครับ”
ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบเสียงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังถูกขับเน้นออกมาอย่างโดดเด่นในรูปแบบของเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อ “โลกคนตาย” ที่ได้รับการสร้างสรรค์โดยศิลปินหญิงคุณภาพที่หาตัวจับยากอย่าง “ริค วชิรปิลันธิ์ โชคเจริญรัตน์” ที่ผู้กำกับมีความตั้งใจและใฝ่ฝันที่จะร่วมงานกันมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
“ก่อนจะมาเป็นเพลงประกอบหนังเรื่อง ‘วิญญาณโลกคนตาย’ ก่อนหน้านั้นผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งมีบทความเกี่ยวกับนักร้องหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ ‘ริค’ ตอนนั้นผมสะดุดกับประโยคหนึ่งที่เธอพูดไว้ว่า ในความมืดที่แสนจะมืดมิดนั้น มองลงไปยังมีแสงสว่างอยู่ หรือพูดสั้น ๆ ก็คือ ในความมืดยังมีแสงสว่างอยู่ ผมประทับใจมาก อัลบั้มนั้นผมรีบไปซื้อมาฟังทันที แล้วก็ได้พบว่าในความมืดมีแสงสว่างอยู่จริง ๆ ครับ
พอได้มาทำหนังเรื่องนี้ ผมก็เลยอยากใส่เพลงในหนังซักเพลงที่เป็นผลงานของคุณริค ซึ่งผมคิดว่าเป็นสไตล์ที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้มาก ๆ ผมก็เลยเชิญเธอมาคุยงานเพลงกัน ให้อ่านบทและเล่าพลังทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ มันก็เลยเกิดเป็นเพลง ‘โลกคนตาย’ ขึ้นมา ซึ่งคุณริคทั้งแต่งเนื้อร้อง ทำนอง และร้องเองทั้งหมดนะครับ เธอเป็นนักร้องที่มีความสามารถมาก เสียงของเธอมีอารมณ์อ่อนไหว เธอใช้เสียงของตัวเองเป็นเครื่องดนตรีไปด้วย มันให้ความรู้สึกที่
ลึกดีจริง ๆ ผมบอกได้เลยว่า มันจะช่วยเพิ่มอารมณ์และความรู้สึกหลอน ๆ ขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ได้อีกเยอะเลยครับ เพราะแค่ฟังเพียว ๆ ก็ขนลุกแล้ว แต่นี่ยิ่งไปประกอบกับภาพในหนังด้วยนี่ยิ่งหลอนไปกันใหญ่เลยครับ”
นอกจากงานสร้างฉากและออกแบบเสียงที่ให้ความรู้สึกน่าสะพรึงไปตลอดทั้งเรื่องอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังให้ความสำคัญกับการกำกับภาพหรือกำหนดมุมกล้องต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ภาพออกมาสอดคล้องและเกื้อหนุนกันในทุก ๆ ด้าน พร้อมกระตุ้นความรู้สึกของผู้ชมให้เกิดอาการหลอนเป็นเท่าทวีคูณอีกด้วย
“หนังเรื่องนี้เราตั้งใจสร้างสรรค์ในทุก ๆ ส่วนเลย เริ่มตั้งแต่เป็นบท ตั้งแต่คิดเรื่องเลย ออกแบบดนตรี แม้แต่ช่างภาพก็มาคุยกันเลยว่า ผมอยากใช้เลนส์อย่างเนี้ย เทคนิคพิเศษอย่างนี้ คืออย่างเทคนิคพิเศษอย่างเช่น แบบว่ารูปคนตายจะเป็นยังไง ผมมองว่า เฮ้ย...รูปคนตายคนที่เห็นผี ผมมีไอเดียประมาณนี้ ความถี่ของคนที่มองไม่เห็นเนี่ย มันจะอยู่ประมาณ 1200-1400 นาโนเมตร ผมอาจจะผิดบ้างเล็กน้อยแต่ประมาณนี้ มันเป็นความถี่ซึ่งคนทั่วไปมองไม่เห็น ซึ่งมันจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อเราต้องใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์ถ่าย ผมเลยคิดว่าโลกคนตายน่าจะเป็นลักษณะนั้น มันน่าจะมาจากการที่ม่านตาของมนุษย์ขยาย ผมเลยคิดว่าจะมาแทนภาพอย่างนี้ได้ยังไงดี ก็เลยคิดว่าน่าจะใช้เลนส์ fish eye ทำให้ความรู้สึกว่า มันกลมเป็นเหมือนม่านตาคน แล้วถ้าสีเนี่ยมันก็จะเป็นแบบลักษณะอินฟราเรท คือตาเรามองไม่เห็น แต่ม่านตาขยายแล้วมันมีความสามารถพิเศษบางอย่างที่ทำให้แบบว่ารังสีความร้อนมันเกาะตัวแล้วเห็นภาพขึ้นมา ก็เลยคิดว่าต้องถ่ายด้วยเลนส์อย่างงี้ ต้องทำสีให้ใกล้เคียงประมาณนี้ ก็เป็นไปได้ประมาณหนึ่งในเทคนิคของบ้านเรานะครับ คือโดยสรุปแล้ว เราต้องการนำเสนอว่าเรามีวิธีคิดในลักษณะนี้นะครับ”
สุดท้าย โปรดิวเซอร์มือฉมังอย่าง “ยอด สุขวิวัฒน์” ได้ออกมาพูดถึงภาพรวมของภาพยนตร์หลอนระทึกขวัญเรื่องนี้เป็นการปิดท้ายว่า
“โดยภาพของหน้าหนังเนี่ย มันเป็นหนังผีนั่นแหละ แต่ว่าเรื่องนี้มันจะเป็นหนังผีซึ่งจะมีความขัดแย้งระหว่างคนกับผี เรื่องราวในอดีตของคนสองคน ซึ่งเกิดเหตุการณ์หรือการกระทำบางอย่างขึ้นในสมัยเค้ายังเด็กอยู่ จนมีผลกระทบกับคาแร็คเตอร์และจิตใจของเค้าตอนที่เค้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ซึ่งเนื้อหาที่น่าติดตามอยู่ที่ว่าเป็นเหตุการณ์อะไร ทำไมถึงทำให้คนสองคนนี้เป็นแบบนี้นะ ผมว่าการแสดงของทั้งของโอและของรัน คือการแสดงค่อนข้างที่จะเข้มข้น แต่ว่าไม่เกินเลยจนกระทั่งมันเกินความน่าเชื่อถือ ผมว่าเค้าเล่นได้ดีมาก ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับเทคนิคการถ่ายทอดผ่านภาพและก็เทคนิคใหม่ของผู้กำกับอย่างคุณอ้นเนี่ย ซึ่งผมคิดว่าเค้าทำได้ดี เค้าทำได้ดีในลักษณะที่ว่าไม่ใช้เทคนิคเพียงแค่เพื่อจะโชว์ว่าเค้าใช้เทคนิคอะไรเป็น แต่ว่าใช้เทคนิคต่าง ๆ มาเสริมบรรยายกาศของหนังซึ่งผมคิดว่าคนดูหนังเรื่องนี้แล้วเหมือนกับว่าจะได้เข้าไปสัมผัสโลกของคนตายจริง ๆ จากภาพที่เห็นและเสียงที่ได้ยินครับ”
รอยทางของ “เขา” และสัมผัสแห่ง “เธอ” จะนำคุณสู่โลกคนตาย
อนุชิต สพันธุ์พงษ์ (รับบทเป็น บัติ) - หมอผ่าศพวัย 25 ปี หน้าตาคมสัน ผิวคล้ำ เดินไม่ถนัด (ขามีบาดแผลใหญ่) มีเพื่อนเป็นเหล่าร่างไร้วิญญาณในห้องดับจิต เขามีความสามารถประเมินสาเหตุของการตายได้จากการวินิจฉัยศพ ดูเป็นคนมีหลักการ มีระเบียบ มีความอดทน และเป็นคนชอบวางแผนและมีความรอบคอบเสมอ ลักษณะเหมือนโรคจิตนิด ๆ ชอบการชำแหละศพ โดยปกติหูมักจะได้ยินเสียงแปลก ๆ เสมอ นั่นอาจจะเป็นเสียงวิญญาณที่ตามหลอนเขาอยู่ก็เป็นได้ มีปมในใจในเรื่องการตายของพ่อ ซึ่งทำให้เขาต้องตามหามิ้ง เพื่อให้ช่วยไขความลับในอดีตที่ค้างคาใจมานาน
“เรื่องนี้ผมก็จะรับบทเป็น บัติ แพทย์นิติเวชหรือหมอผ่าศพที่มีอาการทางจิตนะครับ คาแร็คเตอร์เรื่องนี้ก็จะแตกต่างจาก 2 เรื่องแรกไปเลยครับ จาก ‘15 ค่ำ เดือน 11’ ก็จะเป็นเด็กอีสาน ส่วน ‘โหมโรง’ ก็จะเป็นเด็กไทยและก็เป็นหนังพีเรียด แต่ว่าด้วยวัยของ 15 ค่ำฯ กับ โหมโรง ก็จะเป็นวัยรุ่น แต่ว่าเรื่องนี้จะอยู่ในวัยทำงาน เพราะว่าเค้าเป็นแพทย์นิติเวช ก็จะโตขึ้นมาก จะมีความเงียบขรึม แล้วก็มีอาการทางจิตนิด ๆ ด้วยครับ
ฉากในห้องผ่าตัด ก็สนุกดีครับ มันก็จะมีศพที่ถูกผ่าทิ้งไว้ แล้วเราก็จะได้เห็นว่าศพที่เค้าผ่าท้อง เปิดช่องท้อง มันเป็นยังไง ก็จะแหวะ ๆ หน่อย แต่มันก็จะสนุกดี เพราะว่าจะมีซีนที่ต้องก้มหน้าเข้าไปใกล้ ๆ แล้วก็คุยกับศพ ถามว่าเป็นอะไรตาย เหมือนกับทุกครั้งเค้าจะระบาย... คือผมเชื่อว่าตัวละครของบัติ ช่วงเวลาที่เค้าเป็นส่วนตัวที่สุด คือตอนที่เค้าอยู่ในห้องผ่าศพ ระหว่างที่เค้าพิสูจน์ว่าใครเป็นอะไรตาย เป็นการที่เค้าได้ระบายกับศพ
พูดถึงเสน่ห์ของภาพยนตร์ก็คงจะเป็นเรื่องเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งบางทีมันคงจะแปลกใหม่ในการเป็นภาพยนตร์ไทย เพราะพี่อ้นพยายามที่จะนำเสนอหนังผีซึ่งจะไม่ให้เหมือนกับหนังผีหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ที่เคยมีมา ด้วยบทด้วยคาแร็คเตอร์ มันไม่ใช่หนังผีตุ้งแช่อ่ะครับ แต่มันจะเป็นหนังผีแบบลึก ๆ นิ่ง ๆ ประมาณนี้ ก็จะแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ คือคนไหนที่ชอบดูหนังแนว ๆ หนังนิ่ง ๆ ค่อย ๆ ไป มันจะไม่ได้น่ากลัวแบบแฮ่ ๆ แต่มันจะรู้สึกน่ากลัวแบบเย็น ๆ เยียบ ๆ อยู่ข้างในอะไรอย่างงี้ ก็น่าจะชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ และด้วยการแสดงของผมและรัน คือทุกคนก็จะตั้งใจทำงานอย่างดีอ่ะครับ คือถ้าแฟน ๆ ที่ชอบผลงานของผม ก็คงจะได้เห็นผมในอีกแง่มุมหนึ่ง อีกภาพลักษณ์หนึ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมจะชอบภาพลักษณ์นี้มากครับ”
เป็นการกลับมาขึ้นจอภาพยนตร์อีกครั้งของนักแสดงรุ่นใหม่มากฝีมืออย่าง โอ อนุชิต สพันธุ์พงษ์ (15 ค่ำ เดือน 11, โหมโรง) ที่พลิกคาแร็คเตอร์มารับบทหมอหนุ่มลักษณะคล้ายคนโรคจิต, ชอบการชำแหละศพ และมีปมอดีตเกี่ยวกับพ่อของเขาฝังแน่นอยู่ในใจรอวันสะสาง
แน่นอน นี่คือบทที่จะทำให้เห็นพัฒนาการด้านการแสดงที่ลึกขึ้นของนักแสดงหนุ่มผู้นี้
อนุชิต สพันธุ์พงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2522 จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการชนะเลิศการประกวดเต้น Nescafe Shake Dancing Contest และชนะเลิศการประกวด RVS Born to be Star สาขา Dancing ของคลื่น RVS ก่อนที่จะให้ผู้ชมคุ้นหน้ามากขึ้นจากการแสดงภาพยนตร์โฆษณา COKE ร่วมกับ แคทรียา อิงลิช
แจ้งเกิดแบบเต็มตัวจากการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก “15 ค่ำ เดือน 11" ของผู้กำกับ จิระ มะลิกุล จนได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงนำฝ่ายชาย และเข้าชิงรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง สาขานักแสดงนำฝ่ายชาย เช่นกัน
จากนั้นก็มีผลงานด้านบันเทิงหลากหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นมิวสิควิดีโอ (เบิร์ด ธงไชย, ทาทา ยัง, เสือ ธนพล, อัสนี-วสันต์, พลพล), ละคร (เมื่อวันฟ้าเปลี่ยนสี, ยุทธการเข้าบัว, พรุ่งนี้ไม่สาย...ที่จะรักกัน, สุภาพบุรุษเดินดิน, ร.ศ. 112 คนไทยรักแผ่นดิน, เปลวไฟในฝัน, ฟ้า หิน ดิน ทราย, มายาพิศวาส) รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” ของผู้กำกับ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ และมีโอกาสได้โกอินเตอร์ไปแสดงภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง “Spring Snow” อีกด้วย
ผลงานภาพยนตร์ : 15 ค่ำ เดือน 11 (2545), โหมโรง (2547), Spring Snow (ภาพยนตร์ญี่ปุ่น-2548), แก๊งชะนีกับอีแอบ (รับเชิญ-2549), วิญญาณโลกคนตาย (2550)
มนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ (รับบทเป็น มิ้ง) - หญิงสาวอายุ 20 ปี รูปร่างผอม ผมยาว เป็นโรคหอบหืด มิ้งเป็นคนที่ชอบเก็บตัว ทุกข์ทรมานกับการมองเห็นในแบบที่หลายคนไม่เคยรับรู้ เธอสามารถมองเห็นโลกแห่งความตาย และวิญญาณที่ยังไม่ไปผุดไปเกิด เธอต้องหลีกหนีวิญญาณเร่ร่อนที่คอยตามหลอกหลอน ไปอยู่ตามบ้านผีสิง เพราะเธอเชื่อว่าวิญญาณเฮี้ยนเหล่านั้นจะช่วยคุ้มครองเธอได้จากอะไรบางอย่างที่สยองยิ่งกว่า
“ ในเรื่องนี้รับบทเป็น “มิ้ง” ค่ะ ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะว่าตัวมิ้งเค้าเป็นผู้หญิงที่มีความทรงจำในอดีตซึ่งฝังใจเค้า ทำให้มีผลกระทบในการเจริญเติบโต และนิสัยใจคอด้วย ทำให้มิ้งเป็นคนที่โดยรวม ๆ แล้วสามารถมองเห็นวิญญาณได้ แต่เค้าแปลกจากคนอื่นว่าเค้าไม่กลัว เหมือนเป็นเรื่องปกติ เค้าสามารถเห็นได้ทั้งโลกคนเป็นและโลกคนตาย ก็เลยมีเรื่องมาว่า วิญญาณ โลกคนตาย เพราะว่าตัวมิ้งเนี่ยสามารถเห็นว่าคนนี้ตายยังไง ก่อนตายเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เหมือนเป็นคนที่สื่อสารได้ โดยนิสัยเค้าแล้วก็เป็นคนที่ซ่อนความเจ็บปวดไว้ข้างใน และเวลาเล่นก็ค่อนข้างยาก เพราะมันจะออกมาทางสายตามากกว่า แล้วพอคัทปุ๊บ พี่ทีมงานต้องปล่อยให้รันอยู่คนเดียวก่อน เพราะว่าพอเล่นปุ๊บแล้วมันพีคสุดไปเลย หนูก็ต้องนิ่งซักพักก่อน เพราะว่ามันเหมือนกับว่า มันเหมือนติดมิ้งเข้าไปข้างในตรงที่เครียดมาก ถ้าได้ดูจะรู้สึกว่าอินกับมิ้งมากนะคะ แล้วพอแต่ละคัท มันก็ต้องใช้เวลาพักนิดนึงอะไรอย่างงี้ค่ะ มันยากค่ะ
จริง ๆ แล้วมันยากมากทุกฉากนะคะ คือถ้าได้ดูจะรู้เลยว่ามันยากมาก แต่ถ้าถามว่าฉากไหนที่มันยากที่สุด ก็คงเป็น...รันว่ามันน่าจะเป็นฉากที่รันต้องเข้ามาในบ้านพี่โอนี่ล่ะค่ะ มันเหมือนว่าจะโดนวิญญาณเข้า และรันต้องเล่นเป็น 2 บุคลิก คือทั้งตัวมิ้ง และก็ตัวที่เข้ามาสิงในตัวมิ้ง ซึ่งมันเล่นยากมาก ๆ เพราะเราโดนอีกตัวเข้ามาอยู่ในตัวเราด้วย และอารมณ์มันต่างกัน จะต้องขัดแย้งกัน แล้วเหมือนเค้าเข้า แล้วเราก็ต้องดึงตัวเองออก เล่นยาก พอเล่นจบปุ๊บ รันน็อคไปเลย เพราะมันยากมากค่ะ
คือรันว่าหนังผีแต่ละเรื่องมันต้องต่างกันอยู่แล้ว แต่ในเรื่อง “วิญญาณฯ” นี้ สิ่งที่รันชอบมากที่สุดก็คือ เรื่องการวางโครงเรื่อง เนื้อเรื่อง ซึ่งพี่อ้นเค้าค่อนข้างพยายามดูมุมมองในหลาย ๆ มุมว่า อยากให้เนื้อเรื่องออกมาแบบไหน เพื่อให้คนดูสนใจ อันนี้มันจะมีทั้งแนวผีเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็เรื่องลึกลับเข้ามาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญก็จะมีแนวดราม่าด้วย คือคนเข้าไปดูก็จะได้ข้อคิดกลับไปด้วย ไม่ใช่เข้าไปดูเพื่อการกลัวผีเพียงอย่างเดียว แต่เข้าไปดูเพื่อให้เห็นชีวิตของคน ๆ หนึ่ง รันรู้สึกว่ามันก็เป็นหนังที่แตกต่างจากเรื่องอื่น มันจะเป็นการผูกปมแต่ละเรื่อง ที่คนดูจะต้องคิดตามไปด้วยค่ะ”
ก้าวขึ้นมารับบทนำบนจอใหญ่อีกครั้ง รัน ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ นักแสดงสาวดาวรุ่งจากเรื่อง “ศพ” กับบทหญิงสาวที่สัมผัสได้ถึงวิญญาณที่อยู่รอบตัวอย่างไม่มีทางเลี่ยง จนทำให้เธอไม่ไว้ใจคนรอบข้างหรือใครก็ตามที่ก้าวเข้ามาในชีวิตของเธอ
บทบาทนี้ถือเป็นบทที่ยากสำหรับนักแสดงหน้าใหม่สักคน แต่ด้วยความตั้งใจและพรสวรรค์ทางการแสดงของรัน ทำให้เธอน่าจะแจ้งเกิดจากหนังเรื่องนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เข้าสู่วงการจากการประกวดสาวแฮ็คปี 2000 (ได้อันดับที่ 2) ก่อนที่จะประเดิมงานแสดงครั้งแรกด้วยละครเรื่อง ”พระจันทร์แดง” คู่กับนักแสดงชายเจ้าบทบาท ฉัตรชัย เปล่งพานิช
จากนั้นจึงมีงานแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกจากเรื่อง “ผีหัวขาด” ซึ่งแสดงร่วมกับนักแสดงตลกจำนวนมาก ตามมาด้วยผลงานละครปิดท้ายอีกสองเรื่อง นั่นคือ “สองผู้ยิ่งใหญ่” และ “มนต์รักอสูร” ก่อนที่จะคร่ำเคร่งทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาเป็นหลัก
และกลับมาเดินบนสายอาชีพนักแสดงภาพยนตร์ โดยเพิ่งมีภาพยนตร์เรื่อง “ศพ” ฉายไปเมื่อปีที่ผ่านมา และ เรื่อง “วิญญาณโลกคนตาย” ที่กำลังจะฉายในวันที่ 8 พ.ย. นี้
ล่าสุด ใกล้จะเปิดกล้องภาพยนตร์เรื่องใหม่อย่าง “ตะเบงมาน” ซึ่งเป็นครั้งแรกของเธอกับภาพยนตร์พีเรียดย้อนยุค...เช่นนี้
ผลงานภาพยนตร์ : ผีหัวขาด (2547), ศพ (2549), วิญญาณโลกคนตาย (2550), ตะเบงมาน (2551)
“ธราเทพ ทิวสมบุญ” ผู้เปิดโลกแห่งความตาย
ถือเป็นผู้กำกับหนุ่มจากวงการโฆษณา ที่มีมุมมองใหม่ในการทำงานด้านภาพยนตร์อีกคนหนึ่งของวงการ หลังจากผ่านงานด้านต่าง ๆ มามากมาย ทั้งงานทางด้านโฆษณาและงานภาพยนตร์เทเลพิคเจอร์แล้ว ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้กำกับหนุ่มไฟแรงคนนี้ จะนำเอามุมมองใหม่ ๆ ทางด้านภาพยนตร์ มาเปิดตัวกับงานบนแผ่นฟิล์มอย่างสมบูรณ์แบบ ในภาพยนตร์ที่จะสะท้อนแง่มุมความเป็นและความตายในแบบที่ไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนักในภาพยนตร์ไทยสักเรื่องหนึ่ง กับภาพยนตร์ที่เน้นการเล่าเรื่องผ่านการแสดงเชิงลึกอย่าง “วิญญาณโลกคนตาย” (The Spiritual World) เรื่องนี้
ผลงานที่ผ่านมา :
- ภาพยนตร์โฆษณา
- ภาพยนตร์แอนิแมชั่นเพื่อการศึกษา
- ภาพยนต์เทเลพิคเจอร์ เรื่อง ไพ่มรณะ และ กล่องสังหาร
บันทึกวิญญาณโลกคนตาย (Director’s Note)
คุณเคยมองเห็นตัวเองบ้างมั้ย คุณลองทำความรู้สึกกับตัวคุณดูสิ บางทีคุณอาจจะพบว่าคุณมีวิญญาณดวงหนึ่งติดตามคุณอยู่ ถ้าคุณมองเห็นแล้วเข้าใจกับมันและรู้จักมันดีพอ คุณก็จะรู้ว่า มันคือวิญญาณในตัวคุณเอง วิญญาณของคุณเอง...
โจทย์ตอนนั้นที่ผมได้รับมาหลังจากที่ผมได้เสนอโปรเจ็คต์หนังตลกไปคือ ทำหนังผีมาซักเรื่องหนึ่งก่อน ผมกลับบ้านเลย เครียดมากเคยดูหนังผีมาก็เยอะ ทั้งเทศและไทย จะทำอย่างไรดีที่จะได้หนังผีที่เป็นหนังที่ไม่ต้องไปลอกใคร ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ตอนนั้นก็นอนคิดโครงเรื่องไปพลาง ๆ แล้วคอนเส็ปต์ก็ลอยวนเวียนอยู่บนหัวแล้ว แต่มันก็ยังเป็นผี...พี้...ผี และผีอยู่ ตอนนั้นความรู้สึกนั้นบอกตามตรงนะครับ ผมว่าผมเห็นผีแล้วล่ะ มาหลายผีเลยทั้งไทยและเทศ จนในที่สุดผมก็กลับมามองวิญญาณของผมเอง
ภาพยนตร์เรื่อง “วิญญาณโลกคนตาย” เริ่มต้นขึ้นจากไอเดียหนังเรื่องหนึ่งเป็นหนังที่ผมโปรดปรานเอามาก ๆ เรื่อง The Nightmare before Christmas ผมมองไปที่วิญญาณของตัวละครหลักสองตัวแล้วเก็บมันมา เก็บเอาอารมณ์และความรู้สึกความสนุกสนานที่ข่มความเศร้าหมอง มันเลยเป็นหนังของผมที่เล่าถึง ตัวเอกผู้หญิงที่สามารถติดต่อกับคนตายได้ หรือติดต่อกับวิญญาณได้ ส่วนตัวเอกผู้ชายที่เป็นหมอชันสูตรศพ เขาอยู่กับศพหรือร่างที่ไร้วิญญาณ ตัวละครทั้งสองตัวมีปัญหากับวิญญาณของตัวเอง
วิธีการของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเน้นในด้านจิตวิทยาของมนุษย์ เช่นแต่ก่อนคุณเกิดมา ตอนเด็ก ๆ เขาบอกว่า อย่าซนนะอย่าไปเล่นไกลนะ ตรงนั้นมืดนะเดี๋ยวผีมาจับหักคอ อะไรอย่างนี้ ผมบอกตรง ๆ นะครับ ผมเชื่อเรื่องผี ผมเคยเจอผี วิญญาณก็มีจริง ก็ผมพูดอยู่นี่ไงครับ
ผีคืออดีตของคน ซึ่งปัจจุบันเขาตายไปแล้ว ไม่มีอนาคตแล้ว คนเราเมื่อเจอผี ก็เจออดีตของคน ๆ นั้น เชื่อไหมเรื่องผีนี้มันตลกมาก ๆ เลย ผมปรึกษานักวิชาการท่านหนึ่ง ท่านให้คำแนะนำว่า ผีมันกลัวคน อ้าวแล้วยังไงล่ะ ผมกำลังจะทำหนังผี แต่เรื่องจริง ๆ ผีน่ะกลัวคน ท่านก็บรรยายต่อว่า ผีไม่หลอกคนหลาย ๆ คนหรอก ไม่หลอกคนในที่สว่างหรอก เออ...จริง ผมก็ว่าอย่างนั้น แต่เราพาสาว ๆ เข้าโรงหนัง พอมันมืดวิญญาณของเราก็เริ่มหลอกเธอทันทีเริ่มจากมือค่อย ๆ โอบ ค่อย ๆ (ขอโทษครับขอหยุดก่อน เริ่มนอกเรื่องแล้ว) กลับมาที่ผีกลัวคน ผมเชื่อนะ เชื่อจริง ๆ ผมว่าเราลองเปิดไฟไว้ทั้งคืน ตรงไหนมืดเราก็ติดไฟ เปิดมันให้สว่างไม่มีกลางคืนเลย มันคงไม่มีผีมาหลอกแน่ ๆ ทีนี้กลับมาที่หนังคนทำไมเจอผี เอ๊ะ...หรือว่าผีเดินอยู่ดี ๆแล้วมาเจอคน มันยุ่ง ๆ อยู่เหมือนกัน บางคนบอกว่าผีมาขอส่วนบุญ อันนั้นผมก็ว่า มันเป็นเรื่องของศาสนาหรือทำให้เราสบายใจ แต่ผมมองว่า ถ้าผมไปฆ่าใครมา ผมคงเห็นผีแน่ ๆ ไม่ต้องรอให้มืดหรืออยู่ตัวคนเดียวหรอก
ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงคิดขึ้นมา ทำมันขึ้นมาเพื่อออกมาจากแนวผีที่หลาย ๆ เรื่องทำกันมา หนังเรื่องนี้ไม่มีช็อตลอก ไม่มีซีนลอก ไม่มีความตั้งใจนั้นเลย มันทำขึ้นมาเพื่อจะพูดสั้น ๆ ให้เข้าใจว่า ผู้หญิงคนหนึ่งติดต่อกับวิญญาณได้ ผู้ชายคนหนึ่งต้องการค้นหาวิญญาณ เพื่อรู้เรื่องราวที่ติดอยู่ในใจเขา และแล้วทั้งสองคนก็มาเจอกัน
เรื่องราวทั้งหมดมันทำให้เขาทั้งสองค้นพบความจริงของคำว่า วิญญาณโลกคนตาย...มันทำให้ค้นพบวิญญาณตัวเอง
“ผมจะทำให้คนดูกลับบ้านไปเห็นผี“
ธราเทพ ทิวสมบุญ
(ผู้กำกับภาพยนตร์)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ