ปส. แนะผู้ประกอบการ ลด เลิก ใช้สายล่อฟ้าที่มีวัสดุกัมมันตรังสี

ข่าวทั่วไป Friday April 27, 2018 09:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--สำนักงานปรมาณูเพืิ่อสันติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้ความรู้การจัดการกากกัมมันตรังสีหลังเลิกใช้งาน แก่ผู้ครอบครอง และลดการใช้สายล่อฟ้าที่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ สำหรับหน่วยงานที่มีการขออนุญาตผลิต มีไว้ในครอบครอง ทั่วประเทศ นางสุชิน อุดมสมพร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ได้รับมอบหมายจาก ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดอบรมหลักสูตร "การพิจารณาความสมเหตุสมผล (Justification) สำหรับสายล่อฟ้าที่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ" ณ โรงแรม อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ จำนวน 140 คน นางสุชิน กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานใช้สายล่อฟ้าที่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะต้องได้รับการอนุญาตครอบครอง หรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ซึ่งการนำวัสดุกัมมันตรังสีมาใช้ประโยชน์นั้น ขั้นตอนแรกที่ ปส. จะต้องพิจารณา คือ ความสมเหตุสมผลตามหลักการ justification หรือ การได้รับประโยชน์จากการใช้วัสดุกัมมันตรังสีจะต้องมากกว่าอันตรายที่ได้รับจากรังสี ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของการป้องกันอันตรายจากรังสี เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่า ควรอนุญาตให้มีการ ผลิต นำเข้า ส่งออก ใช้วัสดุกัมมันตรังสีหรือไม่ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าประชาชน และสิ่งแวดล้อมได้รับความปลอดภัยจากการใช้จากวัสดุกัมมันตรังสีนั้น ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล จึงต้องส่งเสริมและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสายล่อฟ้าที่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากสายล่อฟ้าประเภทนี้ ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าสายล่อฟ้าชนิดที่ไม่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ และอาจนำไปสู่การได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นการลดกากกัมมันตรังสีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองอนุญาตทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 1523

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ