ฟิทช์ประกาศอันดับเครดิตที่คาดว่าจะให้แก่โครงการหุ้นกู้ MTN ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยที่ 'BBB+(EXP)’

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 2, 2018 16:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศอันดับเครดิตที่คาดว่าจะให้แก่โครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน Medium-Term Note (MTN) มูลค่าโครงการ 1.50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM, BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่ 'BBB+(EXP)' โดยธนาคารมีวัตถุประสงค์ของการออกหุ้นกู้ภายใต้โครงการนี้เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนการขยายตัวของสินทรัพย์และใช้ในการดำเนินกิจการทั่วไปของธนาคาร อันดับเครดิตครั้งนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อฟิทช์ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องฉบับจริงที่สอดคล้องกับเอกสารที่ฟิทช์ได้รับมาแล้วอย่างครบถ้วน หุ้นกู้ที่ออกภายใต้โครงการนี้จะจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต อันดับเครดิตของโครงการหุ้นกู้ MTN อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ EXIM ที่ 'BBB+' เนื่องจากหุ้นกู้ที่จะออกภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร อันดับเครดิตของ EXIM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทยและสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (Extraordinary Support) แก่ EXIM เนื่องจาก EXIM มีสถานะเป็นธนาคารรัฐและมีบทบาทสำคัญในเชิงนโยบายต่อรัฐบาลตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งของธนาคาร รวมทั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของธนาคารและมีอำนาจในการควบคุมการบริหารงานและกำหนดกลยุทธ์ของธนาคาร อีกทั้งธนาคารยังได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต อันดับเครดิตของโครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน MTN ของ EXIM จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร โดยอันดับเครดิตของธนาคารจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของประเทศไทย ฟิทช์อาจทำการปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารในกรณีที่โอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคารปรับตัวลดลง ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฏหมายของธนาคาร อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ