บีเอสเอ เผยผลสำรวจของ EIU ชิ้นใหม่ ชี้วัดความสามารถการแข่งขันด้านไอทีไทยอยู่ในอันดับ 41

ข่าวทั่วไป Thursday September 6, 2007 14:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
บีเอสเอ เผยผลสำรวจของ EIU ชิ้นใหม่ ชี้วัดความสามารถการแข่งขันด้านไอทีไทยอยู่ในอันดับ 41 แนะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และทักษะของบุคคลากรด้านไอที หวังให้ไทยมีขีดความสามารถด้านไอทีสูงขึ้น
จากผลการสำรวจของ The Economist Intelligence Unit (EIU) ได้เปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับมาตรฐานเชิงเปรียบเทียบด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที (The means to compete: Benchmarking IT industry competitiveness) ซึ่งทำการสำรวจจาก 64 ประเทศทั่วโลก พบไทยติดอันดับที่ 41 และนับเป็นอันดับที่ 9 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคิดเป็นร้อยละ 31.9 รองจากญี่ปุ่น (72.7) เกาหลีใต้ (67.2) ออสเตรเลีย (66.5) ไต้หวัน (65.8) สิงคโปร์ (63.1) นิวซีแลนด์ (57.5) ฮ่องกง (53.4) และมาเลเซีย (34.9) โดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำด้านการแข่งขันทางด้านไอที
จากข้อมูลของ The Economist Intelligence Unit (EIU) เกี่ยวกับมาตรฐานเชิงเปรียบเทียบด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอที (The means to compete: Benchmarking IT industry competitiveness) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ในการทำการสำรวจ 64 ประเทศ จาก 7 ทวีปทั่วโลก เปิดเผยว่า สิ่งที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านไอทีของประเทศต่างๆ มีความแข็งแกร่ง คือความคุ้นเคยในการใช้ทักษะด้านไอที โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก กฎหมายคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ที่เข้มงวด ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนของภาครัฐควบคู่กันไป ดังจะเห็นได้ว่าประเทศที่มีความเป็นเลิศในการแข่งขันอย่างอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอังกฤษ ล้วนเป็นประเทศที่เป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมไอทีที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงงานด้านไอทีระดับโลกอีกด้วย
มร.เซียว ฮอง โกฮ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า “จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 จากผลสำรวจระดับโลกและในเอเซียแปซิฟิกอันดับ 9 ทั้งนี้เพราะโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และทักษะด้านแรงงานของประเทศไทยยังด้อย แม้ว่าการลงทุนด้านบุคคลากรจะมีมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ แต่ก็ยังขาดการฝึกอบรมและพัฒนา อีกทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนก็ยังถือว่าล้าสมัย ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของไทยจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีก็ตาม”
“หากประเทศไทย สามารถปฏิรูประบบการศึกษาโดยเน้นในเรื่องไอทีให้มากขึ้น และมีความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีและมหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยสร้างแรงงานด้านไอทีไทยให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น” มร.เซียว ฮอง โกฮ์ กล่าว
โดยงานสำรวจชิ้นนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานของอุตสากรรมไอที กล่าวคือสามารถแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านไอทีอย่างไร อะไรคือจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละประเทศ ทำไมบางประเทศจึงมีความแข็งแกร่งด้านไอทีมากกว่าประเทศอื่น อีกทั้งชี้ให้เห็นถึงหนทางในการทำให้อุตสาหกรรมไอทีมีความแข็งแกร่ง และปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมไอทีให้มีการเจริญเติบโต
มร.เซียว ฮอง โกฮ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อจำกัดของภาคเทเลคอมนั้นมีส่วนทำให้อัตราการขยายตัวด้านไอทีนั้นต่ำลง ซึ่งสามารถแก้ไขข้อจำกัดนี้ได้โดยทำการเปิดเสรีด้านเกตเวย์ระหว่างประเทศ เพิ่ม ISP เชื่อมต่อระหว่างประเทศโดยตรงมากขึ้น และอนุญาตให้ใช้ระบบ WiMAX เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตและบรอดแบรนด์”
ดัชนีวัดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอทีปี 2007 (เอเชีย แปซิฟิก)
น้ำหนักความสำคัญ คะแนนรวม สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การลงทุนด้านบุคลากร สภาพแวดล้อมด้านกฎหมาย สภาพแวดล้อมด้านการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมไอที
(10%) (20%) (20%) (10%) (25%) (15%)
ญี่ปุ่น 72.7 82.0 52.3 67.4 79.0 84.3 77.1
เกาหลีใต้ 67.2 80.0 61.7 74.8 66.0 56.6 74.3
ออสเตรเลีย 66.4 92.0 75.9 76.2 87.0 21.1 86.2
ไต้หวัน 65.8 88.0 51.3 73.4 70.0 54.8 75.9
สิงคโปร์ 63.1 91.0 58.8 84.9 80.5 16.3 87.5
นิวซีแลนด์ 57.5 92.0 50.9 69.5 79.5 14.7 84.0
ฮ่องกง 53.4 100.0 59.1 49.2 74.5 6.3 84.3
มาเลเซีย 34.9 73.0 16.5 43.7 53.0 1.8 65.5
ไทย 31.9 76.0 6.4 47.7 39.5 0.5 62.6
อินเดีย 29.1 60.0 0.5 49.6 48.0 0.7 54.0
ฟิลิปปินส์ 28.7 68.0 2.2 40.7 51.5 0.4 54.0
จีน 27.9 47.0 8.0 44.7 49.0 2.2 48.1
ศรีลังกา 26.0 60.0 0.5 32.7 46.5 0.0 58.0
อินโดนีเซีย 23.7 51.0 0.0 36.6 39.0 0.6 48.0
ปากีสถาน 20.2 59.0 0.4 19.4 41.0 0.2 41.0
เวียดนาม 19.9 48.0 0.6 22.4 39.5 0.4 43.0
จากตารางจะเห็นว่าประเทศไทยได้คะแนนความสามารถในการแข่งขันด้านไอทีโดยรวมเพียง 31.9 ถึงแม้ว่าคะแนนของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูงคือ 76.0 แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (6.4) และสภาพแวดล้อมด้านการวิจัยและพัฒนา (0.5) นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำหากเทียบกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มนี้ แม้ว่าคะแนนของการลงทุนด้านบุคลากรนั้นอยู่ในเกณฑ์ปานกลางที่ 47.7 แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ขีดความสามารถด้านไอทีของไทยพัฒนาไปได้ดีมากนัก เหตุเพราะแรงงานด้านไอทีไทยนั้นยังขาดการฝึกอบรม และมีการพัฒนาความรู้ได้ไม่ทันกับความต้องการของตลาด ส่วนกฎหมายด้านไอทีของไทยก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการในด้านการปกป้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาจึงทำให้ได้คะแนนในข้อนี้เพียง 39.5 และในส่วนสุดท้ายคือการสนับสนุนด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีของภาครัฐ ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 62.6
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ได้มีการจัดงานเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็น เพื่อนำความคิดเห็นมาพัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทยในอุตสาหกรรมไอทีให้สูงยิ่งขึ้น นอกจากการสำรวจด้านความสามารถในการแข่งขันด้านไอที ซึ่งทำโดย Economist Intelligence’s Unit (EIU) ในครั้งนี้แล้ว บีเอสเอยังมีการทำการสำรวจเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ซึ่งทำโดย IDC แล้วนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมุ่งหวังที่จะช่วยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย และเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับอุตสาหกรรมไอที
ซึ่งจากการศึกษาของ IDC ระบุว่า หากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงเหลือ 70% ภายในปี 2552 อุตสาหกรรมไอทีไทย จะสามารถเติบโตได้ถึง 91% มากกว่าปี 2547 และยังเป็นการสร้างงานใหม่ๆ รวมเป็น 19,462 ตำแหน่ง หรือเพิ่มขึ้น 4,763 ตำแหน่ง จากจำนวนงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด 14,699 ตำแหน่ง ในกรณีที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ลดลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นมูลค่าถึง 1.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ สร้างรายได้จากภาษีให้แก่ประเทศได้อีก 74 ล้านดอลล่าร์ และเพิ่มรายได้ให้แก่ร้านค้าในประเทศอีก 1 พันล้านบาท
นอกจากนี้ มร.โรเบิร์ต ฮอลลีย์แมน ประธานและซีอีโอกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ไอทีนั้นถือเป็นตัวผลักดันทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญอย่างมากของทั่วโลก สิ่งนี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนแม่บทของรัฐบาล อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นในการทำให้หน่วยงานด้านไอทีมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสากรรมไอทีนั้นยังส่งผลดีต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ Economist Intelligence Unit
Economist Intelligence Unit เป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์ข้อมูลด้านธุรกิจของกลุ่ม Economist ซึ่งเป็นผู้ผลิตนิตยสาร The Economist และมีนักวิเคราะห์ในสังกัดมากกว่า 650 คนทั่วโลก EIU มีการประเมินและคาดการณ์ข้อมูลด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเงื่อนไขทางธุรกิจในจำนวน 200 ประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยเป็นผู้นำในการให้บริการด้านข้อมูลหรือหน่วยข่าวกรองระดับโลก ดังนั้นเราจึงมีส่วนช่วยทำให้ผู้บริหารตัดสินใจได้ดีขึ้น ด้วยเวลาที่เหมาะสม มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างยุติธรรมตามแนวโน้มและกลยุทธ์ทางธุรกิจในตลาดทั่วโลก
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ (www.bsa.org) เป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮารด์แวร์ทั่วโลกต่อหน้ารัฐบาลของประเทศต่างๆ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ
สมาชิกบีเอสเอทั่วโลก รวมถึง อโดบี, แอปเปิ้ล, ออโต้เดสค์, อาวิด, เบนลี่ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, โมโนไทพ์ อิเมจิ้ง, พีทีซี, โซลิดเวิร์กส์, ไซเบส, ไซแมนเทคเดอะ แมธเวิร์กส์ และยูจีเอส สมาชิกบีเอสเอระดับภูมิภาคเอเชีย รวมถึง อาจิเลนท์ เทคโนโลยี, อัลเทียม, บีอีเอ ซิสเต็มส์, บริวอัล รีเสิร์ช ออแกไนเซชั่น, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ (ในเครือออร์โบเท็ค วาเลอร์ คัมปานี), ไอนัส เทคโนโลยี, ไมเจ็ท, มินิแทบ, เอสพีเอสเอส, เทคล่า และเทรนด์ ไมโคร สมาชิกบีเอสเอในประเทศไทยรวมถึง ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บ.นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด
สุนทรี ชินประหัษฐ์ / นิสิตา ใจเย็น
โทร (02) 631-2290-5 ต่อ 222, 310
แฟ็กซ์ (02) 234-6192-3
E-Mail: suntaree@neotarget.com, nisittha@neotarget.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ