กรมประมงร่วมกับชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามลุ่มน้ำฉวี จัดกิจกรรมกำจัด “หมอสีคางดำ” เดินหน้าตัดวงจรชีวิตหลังพบแพร่ระบาดทั้งในบ่อเลี้ยงและธรรมชาติ

ข่าวทั่วไป Friday May 11, 2018 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--กรมประมง วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ ชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามลุ่มน้ำสวี อ.สวี จ.ชุมพร นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานจัดกิจกรรมชาวชุมพรร่วมใจ ขจัดภัยหมอสีคางดำ (รักษ์ลุ่มน้ำสวี) เพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำหลังพบเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาด นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากกรณีพบปลาหมอสีคางดำแพร่กระจายพันธุ์ในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากให้กับผู้เลี้ยงปลาและกุ้ง กรมประมงได้ออกคำสั่งที่ 223/2561 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำโดยเฉพาะ นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดที่พบมีการแพร่ระบาด กรมประมงได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ รับฟังข้อคิดเห็นของเกษตรกรชาวประมงและชุมชนเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศ นอกจากแนวทางในการกำจัดปลาหมอสีคางดำตามที่กล่าวข้างต้น ในด้านการพิจารณานำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นในภาพรวมทั้งหมด กรมประมงยังมีคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (IBC) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอีกด้วย เพื่อป้องกันมิให้กระทบกับระบบนิเวศของแหล่งน้ำ โดยมีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ.2561 มารองรับการปฏิบัติงาน สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ที่ห้ามตามประกาศ ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ โดยในส่วนของประกาศฉบับดังกล่าวจะมีแนวทางปฏิบัติหลักๆ ที่สำคัญดังนี้ 1. กรณีที่เกษตรกรที่เลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิดในบ่อเพาะเลี้ยง ให้รีบนำปลาดังกล่าวส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กรมประมงโดยด่วน 2. กรณีที่ประชาชนทำการประมงแล้วได้ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประชาชนสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย 3. กรณีที่ปลาทั้ง 3 ชนิดจากธรรมชาติหลุดรอดเข้าในบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรโดยไม่เจตนา เกษตรกรสามารถนำไปบริโภคหรือจำหน่ายได้ แต่ควรทำให้ปลาตายก่อนนำไปจำหน่าย 4. กรณีส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือกรณีจำเป็นอื่นใดที่เพาะเลี้ยงปลาทั้ง 3 ชนิด ไว้เพื่อศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางราชการให้แจ้งขออนุญาตกรมประมงต่อไป 5. ห้ามผู้ใดปล่อยปลาทั้ง 3 ชนิด ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 144 แห่ง พรก.การประมง 2558 อย่างไรก็ตามการกำจัดสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นสามารถดำเนินการได้โดยใช้วิธีการกำจัดด้วยชีววิธีและประกอบกับต้องได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมง หรือกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ในการช่วยกันป้องกันและกำจัดสัตว์น้ำต่างถิ่น จังหวัดชุมพรจัดเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่พบว่ามีเกษตรกรรับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ กรมประมงจึงได้จัดกิจกรรมชาวชุมพรร่วมใจ ขจัดภัยหมอสีคางดำ (รักษ์ลุ่มน้ำสวี) ขึ้น เพื่อกำจัดวงจรชีวิตการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ นายสง่า ลีสง่า ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ทางกรมประมงได้เตรียมลูกพันธุ์ปลากะพงไว้สำหรับปล่อยลงในบ่อกุ้งร้างและมอบให้เกษตรกรนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยงของตนเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อจากการแพร่ระบาดในบ่อเลี้ยง อีกทั้งได้มอบเกียรติบัตรแก่ชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามสวี เนื่องจากทางชมรมฯ ได้ให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี มีการดำเนินงานควบคู่ไปกับทางเจ้าหน้าที่ในการจับสัตว์น้ำต่างถิ่นในพื้นที่ของตน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ชมรมจะรวมกลุ่มกันจับสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่งน้ำสาธารณะเป็นประจำทุกเดือน โดยมีทางเจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าร่วมสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลทางด้านสถิติเพื่อประกอบเป็นฐานข้อมูลในการทำงานวิจัยของกรมฯ สำหรับบทลงโทษหากพบผู้ใดฝ่าฝืน ลักลอบนำปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รองอธิบดีฯ กล่าวในต้อนท้ายว่า การกำจัดสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตลอดประชาชนภายในประเทศจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน หากท่านเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำต่างถิ่น (สัตว์น้ำจากต่างประเทศ) ไม่ควรปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพราะจะมีผลกระทบอันจะสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ