กพร. เร่ง ฝึกเสริมศักยภาพแคดดี้ไทย ไม่ต้องสวย แต่ต้องรักงานบริการ และมีฝีมือจริง

ข่าวทั่วไป Wednesday May 16, 2018 12:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าสนามกอล์ฟบางแห่งมีการเลิกจ้างแคดดี้คนไทยเพราะได้มีการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำหน้าที่แทนซึ่งคนต่างด้าวไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกรมการจัดหางานยังไม่เคยออกใบอนุญาตทำงานได้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบและพูดคุยกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อทำความเข้าใจแล้ว สำหรับ กพร. กระทรวงแรงงาน ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนตามภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงผู้ประกอบกิจการ โดยเน้นการเสริมศักยภาพแคดดี้ไทย ให้มีความรู้ด้านงานบริการ เพิ่มขีดความสามารถด้านอาชีพ และการ ยกระดับทักษะ (skilled labour) นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กพร. ฝึกอาชีพให้กับแคดดี้ในหลักสูตรการฝึกยกระดับการสร้างบริการที่ประทับใจ ดำเนินการฝึกอบรมโดยหน่วยงานในสังกัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติ และการสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงาน ภายใต้หัวข้อ ความสำคัญของงานบริการ เทคนิคการต้อนรับ การพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการ รวมไปถึงฝึกภาษาต่างประเทศเพื่อรองรับชาวต่างชาติที่มาใช้บริการสนามกอล์ฟในประเทศไทย เช่น ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีการพัฒนาศักยภาพให้เป็นแคดดี้ที่รักงานบริการ และมีฝีมือจริง เช่นที่ผ่านมาจะสามารถช่วยส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการด้านสนามกอล์ฟจ้างแคดดี้คนไทย และไม่จ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย แรงงานที่ทำอาชีพเป็นแคดดี้ท่านอื่นๆ หากต้องการเปลี่ยนอาชีพ ก็สามารถมาฝึกอบรมกับทาง กพร. ได้เช่นกัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือเว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หัวข้อกำหนดการเปิดฝึกอบรม ในส่วนของการฝึกอบรมภาคบริการ ปี 2561 กพร. มีเป้าหมาย 1,060 คน ดำเนินการแล้ว 860 คน การฝึกทักษะฝีมือด้านการบริการต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว นอกจากช่วยให้แรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้น สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเองได้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่งด้วยการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรที่รองรับการท่องเที่ยวอีกกว่า 60 หลักสูตร อาทิ สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ หลักสูตร ช่างเย็บตัดเสื้อผ้าบุรุษ สตรี สาขาภาคบริการ ได้แก่ หลักสูตร การบริการโรงแรม ช่างแต่งผมบุรุษ สตรี การทำขนมไทย นวดไทยและนวดเท้าเพื่อสุขภาพ สาขาช่างก่อสร้าง ได้แก่ หลักสูตร การก่อสร้างบ้านดิน บ้านไม้ไผ่เพื่อการท่องเที่ยว การทำปูนปั้นม้านั่งไม้เทียม สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ การออกแบบลายผ้าไหมอิงวัฒนธรรมท้องถิ่น การประดิษฐ์ของที่ระลึก เป็นต้น อธิบดี กพร. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ